ในโลก Forex ที่เต็มไปด้วยสไตล์การเทรดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Position Trading สายถือยาว, Day Trading เน้นจบในวันหรือ Scalping สายเก็บกินเร็ว แต่ยังมีสไตล์การเทรดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “Swing Trading” โดยบทความนี้ เราจะเน้นไปที่กลยุทธ์เทรดแบบมินิมอลนี้ เทรดน้อยครั้งแต่กำไรบาน โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการเฝ้ากราฟตลอดเวลาครับ
Highlight บทคัดย่อ
- Swing Trading คือการเทรดตามการแกว่งตัวของราคา โดยหาจังหวะเข้าเทรดในช่วงที่ราคากำลังเคลื่อนที่ตามแนวโน้มหลัก (Swing Body) และรอสัญญาณบริเวณจุดสูงสุด/ต่ำสุดของการแกว่งตัว (Swing Point)
- สำหรับ Swing Trading จะเน้นใช้ Timeframe 4 ชั่วโมง (H4) และรายวัน (D1) เป็นหลัก เพื่อมองภาพการแกว่งตัวที่ชัดเจน ลดสัญญาณรบกวนและให้สัญญาณที่น่าเชื่อถือกว่า
- หลักการเทรดคือต้องรอให้เกิดสัญญาณ Price Action ที่ชัดเจนบริเวณ Swing Point ก่อนเข้าเทรดและต้องมีความอดทนในการถือออเดอร์นานข้ามวันหรือข้ามเดือน เพื่อรอให้ราคาเคลื่อนที่ตาม Swing Point อื่นๆ
- ข้อดีของ Swing Trading คือ ใช้เวลาเทรดไม่บ่อย ไม่ต้องเฝ้าจอแต่มีโอกาสทำกำไรเยอะกว่า แต่ก็มีข้อเสียเช่น ต้องใช้ความอดทนสูง ใช้เวลายาวนานและพลาดโอกาสระยะสั้น
Swing Trading คืออะไร?
- Swing Trading ถ้าแปลตรงตัวก็คือการเข้าเทรดเมื่อราคาแกว่งตัว ลองนึกภาพตามเมื่อกราฟแท่งเทียนเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้มขึ้นลงตาม รอบคลื่น แล้วเราหาจังหวะเทรดในช่วงขึ้นและลงนั่นเองครับ
- ที่ Swing Trading ได้รับความนิยมนั่นก็เพราะตลาด Forex มันไม่ได้เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงอยู่แล้วครับ มันจะสวิงขึ้นลง มีทั้งช่วงเคลื่อนที่ตามแนวโน้มหลักและช่วงปรับฐานเพื่อเปลี่ยนแนวโน้มเป็นวัฏจักรของมัน
- ส่วนประกอบของรูปแบบ Swing สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ครับ คือ
-
- Swing Body = การเคลื่อนที่ของกราฟราคาในแนวโน้มใดแนวโน้มหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดการย่อตัวหรือกลับตัว
- Swing point (high/low) = จุดสูงสุด (High) หรือจุดต่ำสุด (Low) ของการแกว่งตัวของราคา ซึ่งเป็นจุดที่ราคามีการเปลี่ยนทิศทาง+เป็นแนวรับแนวต้าน จึงมักจะมีสัญญาณบางอย่าง เช่น Price Action บริเวณนี้เยอะ

คำแนะนำสำหรับ Swing Trading
- การเทรดแบบ Swing ส่วนใหญ่จะใช้ Timeframe ใหญ่ เช่น 4H, D1 เป็นหลัก เนื่องจากตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ่อยนัก
- ต่อเนื่องจากการใช้ Timeframes ใหญ่เป็นหลัก กลยุทธ์นี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนเพียงพอสำหรับการถือออเดอร์นานๆ และมีความอดทนในการรอคอยไปโดยปริยาย
- การเทรด Swing จะเน้นการหาสัญญาณ Price Action ที่เกิดขึ้นบริเวณ Swing Point ซึ่งใน TF ใหญ่จะชัดเจนกว่า TF เล็ก
- นอกหาการหา Price Action แล้วก็ควรใช้ร่วมกับเครื่องมือตีเส้น Trendline หรือกรอบ เพื่ออ้างอิงในการเลือกจุดเข้าเทรดให้แม่นยำขึ้น
- อย่ารีบเข้าเทรดทันทีที่ราคาถึง Swing Point หรือ ควรรอให้ตลาดแสดงข้อมูลก่อนว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อจุดนั้นๆ เช่น ราคาทะลุระดับก่อนหน้าอย่างชัดเจน เป็นต้น

แนวทางในการเทรดแบบ Swing
เราลองมาดูตัวอย่างในการเข้าเทรด Swing Trading แบบของจริงกันบ้างว่า มีหลักการหรือแนวทางในการเข้าเทรดยังไง ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ตัวอย่างที่ 1 การเริ่ม Swing

- จากจุดที่ 1 ถึงแม้เราจะรู้ว่าราคาไม่สามารถขึ้นไปสูงกว่าเดิมได้และมีโอกาสที่จะเป็น Swing Point สูงมาก แต่แนะนำว่าไม่ควรรีบเข้า Sell ในทันที
- รอให้ราคาทำ Price Action ยืนยันสัญญาณ คือ ทะลุ Low ก่อนหน้า ซึ่งจุดที่ทะลุนั่นแหละ เราจึงจะเข้าเทรดตามแนวโน้ม (Sell)
- ซึ่งในภาพ TF 4 ชั่วโมงจะเห็นว่าราคามีย้อนกลับมาทดสอบแนวเดิม (Pullback) ที่ทะลุมาก่อนจะวิ่งไปตามแนวโน้มหลัก เป็นการยืนยันชัดเจน
- จนกระทั่งราคาได้วิ่งมาถึง Swing Low ที่จุด 2 เราก็ควรจะรอดูสัญญาณก่อนว่าราคาจะกลับตัวหรือไปต่อ
- ซึ่งในที่นี้ราคาเริ่มทำสัญญาณกลับตัวด้วยโมเมนตัมขาขึ้นที่แข็งแกร่งจนสามารถเอาชนะพื้นที่ Supply บริเวณนั้นได้(กรอบสีฟ้า) จังหวะนี้ให้ปิดออเดอร์ Sell จากจุดที่ 1 ได้เลย
- ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการเริ่ม Swing ใหม่จากจุด 2 เมื่อราคาทะลุแนวต้านขึ้นไปได้ เป็นโอกาสเล่น Buy
- แต่ต้องระวัง!!! สังเกตเห็นไหมว่าราคาเกิดการ Pullback มาทดสอบ ก่อนจะขึ้นไปต่อ หากใครตกใจรีบปิดออเดอร์ก็ตกรถไปเลย
- ทางแก้คือเราสามารถไปดักบริเวณที่ราคาทดสอบแนวเดิมเสร็จแล้ว มันก็จะพุ่งไปในแนวโน้มหลัก เราสามารถตั้ง Buy Stop บริเวณ High ล่าสุดได้ครับ
ตัวอย่างที่ 2 ภาพรวมใหญ่

- เมื่อมองภาพที่ใหญ่ขึ้นจะเห็นว่าเกิดการสวิง 5 จุด ด้วยกัน โดยหลักการเข้าเทรดก็เหมือนกันกับตัวอย่างที่ 1 เลยครับ
- จาก Timeline ของการ Swing นี้ จะเห็นว่าเริ่มต้น Swing ช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2017 กว่าจะไปถึง Swing ที่ 5 ก็เดือน กรกฎาคมปี 2018 ประมาณ 7 เดือน
- หากมองกรอบใหญ่มันก็คือแนวโน้มขาขึ้น ดังนั้นช่วง Swing Point ที่ 4 บางคนก็ดูออกแล้วว่า ฐาน Low มันสูงขึ้น อาจจะเก็บออเดอร์ Buy จากจุด 2 เอาไว้หรือตามจุดพักตัวต่างๆ อาจจะเล่น Buy เพิ่มได้ครับ
ข้อดี-ข้อเสียของ Swing Trade
เรามาดูกันดีกว่าว่า Swing Trading ที่ดูเหมือนจะง่าย แค่เทรดตามแนวขึ้นลงของราคา มันมีข้อดีและข้อเสียตรงไหนที่เทรดเดอร์ควรจะรู้บ้าง
ข้อดี
- ไม่จำเป็นต้องจับจ้องกราฟตลอดเวลาเพราะ Swing Trading เล่นกราฟ TF ใหญ่เป็นหลักและเข้าเทรดเฉพาะ Swing Point ตามแนวโน้มหลักดังนั้นมันจึงใช้เวลาเทรดน้อยๆ แล้วปล่อยให้ราคาเป็นตัวนำพาไป
- เทรดน้อยครั้ง แต่กำไรเยอะ จะเห็นว่าการเทรดแต่ละครั้งจะเน้นที่จุดสำคัญเพียงไม่กี่จุดที่ยืนยันถึงการ Swing ตัวของราคาที่แท้จริง จากตัวอย่างจะเห็นว่าเทรดแค่ 4-5 ครั้งเท่านั้น แต่ราคาวิ่งไกลกำไรจึงเยอะ
- ด้วยกับการใช้ Timeframes ใหญ่ สัญญาณที่เกิดขึ้นใน Timeframes ระดับ H4 และ Daily จึงมีความแม่นยำและกรองสัญญาณรบกวนได้ดีกว่า
- หากพูดถึงเรื่องต้นทุนการเทรดก็อาจจะเกี่ยวข้องด้วยเพราะความถี่ในการเทรดแบบ Swing น้อยกว่า ทำให้เสียค่า Spread และ Commission น้อยลงในระยะยาว
ข้อเสีย
- เทรดเดอร์ต้องใช้ความอดทนสูงมากเพราะจำเป็นต้องถือออเดอร์ข้ามวันหรือหลายวัน อาจจะเป็นเดือน(ตามตัวอย่าง) ความเร็วและความถี่ในการทำกำไรจึงสู้เทรดสั้นไม่ได้
- การเน้นไปที่การแกว่งตัวในภาพรวมใหญ่ ทำให้พลาดโอกาสในการทำกำไรจากการเคลื่อนไหวเล็กๆ ในระหว่างวันไปโดยปริยาย ซึ่งบางวันก็มักจะมีโอกาสสวยๆ อยู่เต็มไปหมด
- สืบเนื่องจากการเทรดด้วยกรอบเวลาใหญ่ ดังนั้นการตั้ง Stop Loss ก็จะค่อนข้างกว้างและไกล จึงต้องระวังเรื่องของเงินทุนที่สามารถรองรับการแกว่งตัวของราคาเมื่อไปผิดทางได้
- การใช้ Swing Trading หากราคาไปตามที่คาดการณ์ก็จะดีมาก แต่ถ้ามันไปผิดทางก็จะยิ่งเสียเวลาใหญ่ถ้าสุดท้ายราคาวิ่งไปชน SL เสียทั้งเงิน ทั้งเวลาที่ยาวนาน

วิดีโอเกี่ยวกับ Swing Trading
ทีมงานไปเจอวิดีโอตัวหนึ่งที่พูดค่อนข้างครบถ้วนและเห็นภาพเกี่ยวกับ ทำไมกลยุทธ์แบบ Swing Trade ถึงดีที่สุดในการทำกำไร? ซึ่งก็เป็นมุมมองหนึ่งของเทรดเดอร์คนนนี้ โดยในคลิปจะอธิบายเหตุผลและข้อดีข้อเสียทุกอย่าง
- Focus นาทีที่ 00:23 คำจำกัดความของการเทรดแบบ Swing
- Focus นาทีที่ 01:10 ความแตกต่างระหว่างการเทรดแบบ Swing และรูปแบบการเทรดอื่นๆ
- Focus นาทีที่ 02:51 ข้อดีและข้อเสียของการเทรดแบบ Swing
- Focus นาทีที่ 05:13 ตัวอย่างการเทรด
สรุป
จากเนื้อหาในบทความนี้คงจะสรุปแบบรวบหัวรวบหางเลยไม่ได้ว่า Swing Trading คือกลยุทธ์เทรดที่ดีที่สุด เพราะทุกกลยุทธ์การเทรดมีข้อดีข้อเสียของตัวเอง จริงอยู่ว่า Swing Trading เน้นเทรดตามแนวโน้มหลักและจุดกลับตัว แต่ก็แลกมาด้วยการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมากๆ
ดังนั้นเทรดเดอร์ควรรู้จักสไตล์การเทรดให้มากเพื่อคัดสรรดูว่าตัวเองเหมาะกับการเทรดแบบไหนทั้งด้านเงินทุนและสภาพจิตใจรวมถึงความรู้ด้วย หรืออาจจะประยุกต์การเทรดแบบใหม่ด้วยตัวเองก็ไม่มีใครห้าม เพียงแค่มันทำกำไรก็เพียงพอแล้วครับ
ทีมงาน : thaiforexbroker.com