Market Manipulation คืออะไร? อ่านพฤติกรรมรายใหญ่ในตลาด Forex

อย่างที่เรารู้กันว่ากราฟราคานั้นมันวิ่งขึ้นลงตามการซื้อขายของเทรดเดอร์ทั่วทุกมุมโลก จนเกิดเป็นทฤษฎีและแนวทางในการวิเคราะห์มากมายในเชิง จิตวิทยาการเทรด แต่เคยคิดบ้างไหมว่าหากราคาเหล่านี้มันควบคุมหรือกำหนดโดยกลุ่มคนสักกลุ่มหนึ่งล่ะ? เรื่องนี้มันเป็นไปได้จริงหรอ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้ครับ


Highlight บทคัดย่อ

  • Market Manipulation หรือการปั่นราคา คือการแทรกแซงราคาสินทรัพย์ในตลาดโดยเจตนาจาก ”ผู้เล่นรายใหญ่” ให้เคลื่อนไหวผิดไปจากกลไกตลาดปกติ เพื่อผลประโยชน์สำหรับกลุ่มเฉพาะ
  • ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด Forex ได้แก่
    • ธนาคารขนาดใหญ่
    • กองทุนเฮดจ์ฟันด์
    • นักลงทุนรายใหญ่(วาฬ) ในตลาดเกิดใหม่
  • กลยุทธ์ที่รายใหญ่นิยมใช้ในการปั่นราคาในตลาด Forex ได้แก่
    1. Stop Hunt: ดันราคาให้ถึงจุด Stop Loss ของรายย่อยแล้วสวนทาง
    2. Fake Breakout: หลอกให้รายย่อยเชื่อว่าราคาทะลุแนวรับ/ต้านจริง
    3. Pump and Dump: ปั่นข่าวลือเพื่อดันราคาขึ้นแล้วเทขายทีหลัง
  • การปั่นราคาเข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่? การปั่นราคาจะผิดกฏหมายทันทีหากพบเจอหลักฐานบ่งชี้ถึงเจตนาที่ต้องการปั่นราคา แต่หากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ถึงเจตนาอาจเป็นเพียงการซื้อขายขนาดใหญ่เท่านั้น

Market Manipulation คืออะไร?

  • เคยได้ยินคำนี้กันไหมครับ Market Manipulation หรือแปลแบบง่ายๆ คือการปั่นราคาตลาด มันคือแนวคิดที่ว่าใครบางคนหรือกลุ่มคน พยายามที่จะทำให้ราคาของสินทรัพย์ (เช่น หุ้น, คริปโต, Forex) เปลี่ยนแปลงไปจากราคาที่ควรจะเป็นตามกลไกตลาดปกติ
  • ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนเข้าไปซื้อหุ้นตัวหนึ่งจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ปั่นขึ้น) พอมีคนอื่นๆ เห็นว่าราคากำลังขึ้นก็แห่กันเข้ามาซื้อตาม พอราคาขึ้นไปถึงจุดที่กลุ่มคนนั้นพอใจแล้ว พวกเขาก็เทขายหุ้นทั้งหมดออกมา ทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว คนที่เข้ามาซื้อทีหลังก็ขาดทุน
  • ซึ่ง Market manipulation นั้นมีอยู่ในทุกวงการรวมถึงตลาด Forex ด้วยครับ เดี๋ยวเราจะไปเจาะลึกกันว่ากลุ่มคนเหล่านั้นหรือที่เรามักเรียกกันว่า “รายใหญ่” พวกเขาคือใคร?
คำพูดของ Ron Chernow คำพูดนี้ปรากฏในการ สัมภาษณ์ที่เขาให้ไว้กับ PBS Frontline ที่จะสื่อถึงการมีจริงของ Market Manipulation ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

รายใหญ่คือใคร?

ตลาด Forex นั้นขึ้นชื่อว่าไม่มีศูนย์กลางการซื้อขาย ทำให้ไม่มีใครสามารถผูกขาดหรือควบคุมกลไกราคาได้อย่างเบ็ดเสร็จก็จริง แต่มันก็มีบางครั้งที่เกิดการพยายามแทรกแทรงราคาจากผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้ครับ

1. ธนาคารขนาดใหญ่ (Investment Banks)

  • มันเคยเกิดกรณีที่ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งสมคบคิดกันเพื่อปั่นราคาอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลา “fixing” (ช่วงเวลาที่กำหนดราคาอ้างอิงรายวัน) ในช่วงปี 2013 – 2015 จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง
  • เหตุการณ์นั้นเรียกว่า Forex Scandal สร้างความเสียหายให้กับเทรดเดอร์จำนวนมาก ในที่สุดก็ถูกจับกุมและปรับเงินธนาคารเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาลและมีการดำเนินคดีอาญากับเทรดเดอร์บางรายด้วย
  • ซึ่งมีหลักฐานจากบทสนทนาในห้องแชทที่มีชื่อต่างๆ เช่น “The Cartel,” “The Bandits’ Club,” และ “The Mafia” เปิดเผยการพูดคุยอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการพยายามปั่นราคาตลาด

2. กองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่

  • กองทุนเหล่านี้มีเงินทุนจำนวนมากและอาจพยายามใช้คำสั่งซื้อขายขนาดใหญ่เพื่อสร้างความผันผวนของราคาในระยะสั้น เพื่อทำกำไรจากความผันผวนที่รุนแรงนั้นได้

3. “วาฬ” ในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

  • หากมีโอกาสผมจะเขียนบทความเกี่ยวกับ วาฬ และ เม่า ให้ละเอียดเลยครัย แต่อธิบายเบื้องต้นคือมักจะเกิดในคู่สกุลเงินที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยโดยเฉพาะ สกุลเงินแปลกใหม่
  • ผู้เล่นที่มีเงินทุนจำนวนมากอาจมีอิทธิพลต่อราคาและมีอำนาจปั่นราคาได้มากกว่า เช่นกรณีตัวอย่าง Emerging Markets Currencies ปี 2019 – 2020 ที่ปั่นราคาสกุลเงิน ของยุโรปกลางและตะวันออก ตะวันออกกลางและแอฟริกา (CEEMEA)
  • โดยพวกเขาตกลงที่จะระงับการเสนอซื้อหรือเสนอขายเพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของราคาที่เป็นอันตรายต่อสถานะออเดอร์ของพวกเขาและประสานงานการซื้อขายเพื่อปั่นราคาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
แม้ว่ารายใหญ่ในตลาด Forex จะไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมราคาอย่างเบ็ดเสร็จได้โดยตรง แต่พวกเขามีจำนวนเงินทุนมหาศาลที่สามารถซื้อขายและส่งผลกระทบต่อราคาในตลาด Forex ให้กระเพื่อมทางอ้อมได้

ปั่นราคาเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่?

  • การจะพิสูจน์ได้ว่ารายใหญ่เจ้าไหนกำลังปั่นราคาเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากและซับซ้อนมากเพราะมันมีเส้นแบ่งระหว่างการซื้อขายตามกลยุทธ์กับการปั่นราคาบางๆ กั้นอยู่
  • ประเด็นคือการซื้อขายโดยใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อทำกำไรจากการคาดการณ์ทิศทางราคาเป็นเรื่องปกติในตลาด การที่ราคาเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อขายขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่การปั่นราคาเสมอไปครับ
  • หากจะพิสูจน์ว่าผิดกฎหมายจริงๆ คงต้องมีหลักฐานที่จะพิสูจน์ถึงเจตนาที่จะบิดเบือนราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากในทางปฏิบัติ แต่ก็มีกรณีที่เกิดการพิสูจน์จากหลักฐานจริงๆ ตามที่ได้ยกตัวอย่างไปครับ

กลยุทธ์การปั่นราคาที่ใช้กันบ่อยในตลาด Forex

มีกลยุทธ์บางอย่างที่ผู้เล่นรายใหญ่นำมาใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยมักจะกระทำโดยอาศัยความเข้าใจในพฤติกรรมและจุดอ่อนของเทรดเดอร์รายย่อยประมาณนี้ครับ

1. Stop Hunt

  • กลยุทธ์การปั่นราคาของรายใหญ่อันแรกคือ Stop Hunt มันคือการ กระตุ้นให้เกิดการตัดขาดทุน (Stop Loss) ของเทรดเดอร์รายย่อยจำนวนมากเพราะเทรดเดอร์รายย่อยมักจะตั้งคำสั่ง Stop Loss ไว้ที่ระดับราคาสำคัญ เช่น เหนือแนวต้านที่แข็งแกร่งหรือใต้แนวรับที่สำคัญ
  • ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีข้อมูลระดับเหล่านี้ (ซึ่งอาจมาจากการวิเคราะห์ Order Book หรือจากพฤติกรรมตลาดโดยรวม) จะทำการดันราคาขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนถึงระดับที่ตั้ง Stop Loss และจะดันราคากลับทิศทางเดิมอย่างรวดเร็ว
  • การสังเกตพฤติกรรม Stop Hunt ดูได้ง่ายๆ จากการเกิดแท่งเทียนยาวผิดปกติ (Spike) ที่ทะลุแนวรับแนวต้านอย่างรวดเร็ว พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นราคาก็กลับตัวอย่างรวดเร็ว
การเกิด Spike จะมีลักษณะแท่งเทียนยาวผิดปกติทะลุแนวรับ/ต้านเร็ว, ปริมาณซื้อขายเพิ่ม, ราคากลับตัวเร็ว เป็นสัญญาณหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเกิดจาก Stop Hunting ของรายใหญ่

2. Fake Breakout

  • Fake Breakout คือเทคนิคที่รายใหญ่ใช้”หลอก” เพื่อดึงดูดให้เทรดเดอร์รายย่อยเปิดออเดอร์ในทิศทางที่ผู้เล่นรายใหญ่ต้องการ เพราะเทรดเดอร์รายย่อยกำลังรอที่จังหวะราคาทะลุแนวรับ-แนวต้านสำคัญอยู่
  • โดยรายใหญ่จะอาจใช้เงินทุนจำนวนมากดันราคาให้ทะลุแนวรับหรือแนวต้านไปได้เล็กน้อย ซึ่งเทรดเดอรรายย่อยที่ไม่ทันระวังก็ตกหลุมพรางคิดว่าเป็นการ Breakout จริงๆ
  • แต่สุดท้ายตลาดก็เฉลยว่ามันเป็นเพียง Fake Breakout โดยราคาก็ย้อนกลับไป เทรดเดอร์ที่ตกหลุมพรางก็ขาดทุนทันที
การเกิด Fake Breakout อาจไม่มีแท่งเทียนไส้ยาวเหมือนกรณ๊ Spike แต่กราฟราคาจะเคลื่อนที่ทะลุแนวรับ/แนวต้านสำคัญ เพื่อหลอกให้เทรดรายย่อยรีบเข้าเทรดตามทิศทางที่ทะลุก่อนเฉลยด้วยการย้อนกลับไปทิศทางเดิม

3. Pump and Dump

  • กลยุทธ์ต่อมาคือ Pump and Dump ซึ่งหลายคนรู้ว่ามันเทคนิคการปั่นราคาที่ไม่เนียนเลย เพราะมันคือการสร้างข่าวลือเชิงบวกที่เกินจริง การเชียร์หรือการสร้างกระแสความสนใจในสินทรัพย์นั้นจนเกินไป
  • พอปั่นข่าวลือจนดันราคาสินทรัพย์นั้นให้สูงได้แล้วพวกเขาจะเทขายสินทรัพย์ทั้งหมดออกมาอย่างรวดเร็ว (Dump) ทำให้ราคาตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เทรดเดอรที่เข้ามาทีหลังก็มักจะติดดอยกับสถานการณ์นี้
  • แต่เทคนิคนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพบเจอในตลาด Forex โดยเฉพาะคู่สกุลเงินหลักซึ่งจะปั่นราคาแบบปล่อยข่าวลือได้ยาก ส่วนใหญ่จึงเกิดกับ ตลาดหุ้น หรือ Crypto มากกว่า
จากตัวอย่างกราฟ Crypto ของสกุลเงินดิจิตอลสกุลหนึ่งซึ่งเป็นโทเค็นเกม ที่เคยสร้างชื่อเสียงในการ “เล่นเกมเพื่อรับเหรียญไปขาย” เป็นกรณี Pump and Dump ที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด

วิดีโอเกี่ยวกับ Market Manipulation

พูดถึงการปั่นราคาตลาด คลิปวิดีโอนี้ก็อธิบายถึง ความอันตรายที่ออกแนวฉ้อโกงในอุตสาหกรรมการเทรด ได้อย่างเห็นภาพเลยครับ อยากบอกไว้ก่อนว่ามันคือความคิดเห็นของยูทูปเบอร์คนนี้ที่อธิบายเหตุผลในมุมของเขาเพียงเท่านั้น เราสามารถนำไปคิดวิเคราะห์ต่อยอดได้แต่อยากให้มีความละเอียดในการหาข้อมูลก่อนครับ

  • Focus นาทีที่ 2:01 พูดถึงการควบคุมตลาด Market Manipulation เช่น การล่อลวงให้เกิดคำสั่ง Stop Loss
  • Focus นาทีที่ 4:55 ตัวอย่างกรณีที่กลยุทธ์หลอกลวงเกิดขึ้น เช่น Liquidity Runs และการใช้ข้อมูล Orderflow
  • Focus นาทีที่ 8:12 กรณีศึกษาที่ใช้รูปแบบชาร์ต Head and Shoulders และ Symmetrical Triangle แต่ล้มเหลว
  • Focus นาทีที่ 10:00 บทเรียนที่ได้เรียนรู้และข้อคิดสำคัญ

สรุป

จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้ต้องการให้เทรดเดอร์เห็นถึงความไม่แฟร์ในตลาดการเงินแต่อยากให้ตระหนักรู้ถึงระบบการเงินที่มาพร้อมกับความคลุมเครือที่เกิดขึ้นจริง เช่น การปั่นราคาตลาด อย่างที่เราบอกไป รวมถึงเทรดเดอร์จะได้ระวังตัวและหาทางแก้เอาไว้ได้ทันครับ

หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ทีมงาน Thai Forex Broker นำเสนอจะสามารถทำให้ผู้อ่านและเทรดเดอร์ทุกคนเทรด Forex ด้วยความมีสติและมีความรู้อย่างรอบด้านเพื่ออยู่รอดในการทำกำไรในตลาดแห่งนี้ไปนานๆ ครับ

ทีมงาน : thaiforexbroker.com

 

สารบัญบทความ