ความแตกต่างของการวิเคราะห์กราฟแบบ Fundamental และ Technical

หลายคนที่เทรด Forex เป็นประจำคงไม่มีใครเทรดแบบมั่วๆ เดาสุ่มว่าราคาจะขึ้นลงแบบไม่มีข้อมูลอะไรรองรับใช่ไหมล่ะครับ? ก็แน่นอนอยู่แล้วว่าการเทรดหรือการลงทุนทุกชนิดบนโลกใบนี้ (ไม่นับการพนัน) ล้วนแล้วแต่ต้องการการวิเคราะห์แนวโน้มทั้งสิ้น แล้วการวิเคราะห์สำหรับการเทรด Forex มันมีกี่แบบกันนะ? มาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ


Highlight บทคัดย่อ

  • การวิเคราะห์กราฟ Forex หลักๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
    1. การวิเคราะห์ทางเทคนิค (TA) ที่เน้นการศึกษาพฤติกรรมราคาในอดีตผ่านกราฟ
    2. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (FA) ที่เน้นการประเมินมูลค่าสกุลเงินจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ
  • การวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้เครื่องมือหลักๆ เช่น อินดิเคเตอร์ (MA, RSI, Fibonacci), รูปแบบกราฟ (ต่อเนื่อง, กลับตัว) และระดับราคาสำคัญ (แนวรับ/แนวต้าน, Demand/Supply Zone)
  • การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานพิจารณาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ (GDP, เงินเฟ้อ, การว่างงาน), นโยบายธนาคารกลาง, สถานการณ์ทางการเมือง
  • จุดเด่นของ TA คือใช้เป็นสัญญาณซื้อขายได้เร็วและแม่นยำ แต่มีจุดด้อยคือมักจะเกิดสัญญาณหลอก ส่วนจุดเด่นของ FA คือเข้าใจมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินแต่ไม่สามารถหาจุดเข้าเทรดที่แม่นยำ

การวิเคราะห์กราฟ Forex มีกี่แบบ?

  • อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่าเราไม่สามารถเทรด Forex โดยใช้การคาดเดาได้ (ถ้าไม่เทรดแบบพนันนะ) ดังนั้นเทรดเดอร์ Forex จึงจำเป็นจะต้องมีสกิลการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาคู่สกุลเงินติดตัว
  • ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์กราฟ Forex นั้น สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
    1. การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis): อธิบายง่ายๆ คือเน้นวิเคราะห์ตัวกราฟ
    2. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis): อธิบายง่ายๆ คือเน้นวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) คืออะไร?

  • มารู้จักกับการวิเคราะห์แบบแรกกันก่อนคือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) หรือที่เรียกกันติดปากว่า TA หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ TA คือ กราฟราคาครับ
  • ทำไมต้องกราฟราคานั่นก็เพราะ TA จะเน้นการศึกษาพฤติกรรมราคาคู่เงินในอดีตผ่านการแสดงออกมาทางกราฟราคานั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือย้อนกลับไปดูว่ากราฟวิ่งยังไง? วิ่งเป็นรูปแบบไหน? โดยมีหลักการ 3 ข้อคือ
    1. ราคาสะท้อนทุกสิ่ง (Price Discounts Everything): ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากข่าวหรือความเชื่อมั่นของเทรดเดอร์ มันถูกสะท้อนผ่านกราฟราคาหมดแล้ว
    2. ราคามีแนวโน้ม (Price Moves in Trends): กราฟราคาจะเคลื่อนไหวแบบมีทิศทางและแนวโน้ม(Trend)
    3. ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย (History Repeats Itself): เทรดเดอร์จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ในรูปแบบเดิม ด้วยพฤติกรรมเดิมๆ เสมอ นั่นจึงทำให้กราฟมีความเป็น Patterns ซ้ำๆ ยังไงล่ะ
การวิเคราะห์รูปแบบกราฟ Double Tops บนแนวต้านสำคัญ
จากรูปคือหนึ่งตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางเทคนิค เมื่อเราเห็นว่ากราฟทำรูปแบบ Double Tops เมื่อกางออกมาจะเห็นว่าระดับแนวต้านนี้มีความแข็งแกร่งจากพฤติกรรมราคาในอดีตที่มักจะผ่านทะลุขึ้นไปไม่ได้ ถ้าทะลุได้ก็มักจะกลับมาทดสอบแนวนี้อีกครั้ง (วงกลม)

เครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค

ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคมันก็จะมีเครื่องมือที่เทรดเดอร์มักจะนิยมใช้ในการวิเคราะห์กราฟราคาอยู่ไม่น้อยเลยครับ แต่หลักๆ แล้วทีมงานของเราขอสรุปมาแบบกระชับคือ 3 อันดังนี้ครับ

1. อินดิเคเตอร์ (Indicators)

  • มันคือสูตรคณิตศาสตร์ที่คำนวณจากข้อมูลราคาหรือปริมาณการซื้อขายในอดีตแล้วนำมาสร้างเป็นเครื่องมือตัวบ่งชี้สภาวะตลาดรวมถึงบอกสัญญาณการเข้าเทรดได้ด้วย ตัวอย่างเช่น
    • Moving Averages (MA): เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่
    • Relative Strength Index (RSI): ออสซิลเลเตอร์ที่วัดความเร็วและความแรงซื้อ/ขาย
    • Fibonacci Retracement: ตัวเลขสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) เพื่อระบุระดับราคาที่มีนัยยะสำคัญ

2. รูปแบบกราฟ (Chart Patterns)

  • ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย ซึ่งเป็นที่มาของการเกิด Chart Patterns นี่แหละ รูปแบบราคาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บนกราฟ สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของกราฟราคาว่าจะเป็น…
    • กราฟรูปแบบต่อเนื่อง (Continuation Patterns): มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม
    • กราฟรูปแบบกลับตัว (Reversal Patterns): แนวโน้มปัจจุบันอาจสิ้นสุดลงและเกิดแนวโน้มใหม่

3. ระดับราคาสำคัญ (Price Levels)

  • คือพื้นที่หรือระดับราคาที่มักจะเกิดแรงซื้อ/ขายจำนวนมากและมักเป็นระดับที่มีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคา ตัวอย่างเช่น
    • แนวรับ (Support) คือระดับราคาที่คาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาดันไม่ให้ราคาลงไปต่ำกว่านี้ ส่วนแนวต้าน (Resistance) คือระดับราคาที่คาดว่าจะมีแรงขายเป็นหลังคาไม่ให้ราคาขึ้นไปสูงกว่านี้
    • Demand/Supply Zone: โซนราคาที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขาย มีแนวหลักการคล้ายกับแนวรับ/แนวต้าน แต่ Zone พื้นที่จะระบุกว้างกว่า
เครื่องมือสำคัญ 3 ประเภทในการวิเคราะห์ทางเทคนิค Forex
เครื่องมือในการวิเคราะห์ทางเทคนิคสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ อินดิเคเตอร์ที่เป็นเครื่องบ่งชี้และ Chart Patterns คือการตีความรูปแบบกราฟเฉพาะและสุดท้ายคือระดับราคาสำคัญที่เคยเกิดแรงซื้อ/ขายในอดีต

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) คืออะไร?

  • การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) คือการประเมินค่าของสกุลเงินโดยอ้างอิงจากข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศที่เกี่ยวข้อง ว่ามูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินนั้นในระยะยาวควรเพิ่มขึ้น(แข็งค่า)หรือลดลง(อ่อนค่า)
  • การจะได้ข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานส่วนมากก็จะต้องนำมาจากเว็บไซต์เศรษฐกิจหรือแหล่งข่าวการเงินจากที่เชื่อถือได้ เช่น Forex Factory, Investing.com เป็นต้น
  • โดยปัจจัยหลักๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางพื้นฐานของคู่เงินนั้นๆ ก็คือ
    1. ข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ: เช่น GDP, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
    2. นโยบายของธนาคารกลาง: เน้นไปที่การปรับอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงิน
    3. สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสกุลเงิน: ความมั่นคงทางการเมืองและนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลต่อนักลงทุน
    4. เหตุการณ์ไม่คาดฝัน: เช่น ภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถกระทบต่อเศรษฐกิจ
ปฏิทินเศรษฐกิจ Forex Factory แสดงตัวเลขและข่าวเศรษฐกิจสำคัญ
ตัวอย่างแหล่งข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวงการเทรดเดอร์ก็คือเว็บไซต์ Forex Factory โดยเว็บนี้จะบอกตัวเลขเศรษฐกิจแบบเรียลไทม์พร้อมทั้งข้อมูลเลขคาดการณ์และตัวเลขก่อนหน้า ของทุกๆ สกุลเงิน Forex

ตัวอย่างผลกระทบของข่าว Fundamental

ผลกระทบของประกาศดอกเบี้ย FED ต่อราคาค่าเงิน USDCAD
ตัวอย่างกราฟราคา USDCAD เมื่อมีการประกาศตัวเลขอัตราดอกเบี้ยของ FED ราคาก็ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนทันที หากสังเกตดีๆ จะพบว่าเกือบทุกช่วงที่ประกาศข่าวสำคัญกราฟราคามักจะผันผวนและวิ่งแรง เนื่องจากแรงซื้อ/ขายที่เพิ่มขึ้นจากเทรดเดอร์ทั่วโลก
  • จากกราฟตัวอย่างคือกราฟ USDCAD จะเห็นว่ามีสัญลักษณ์ธงชาติแคนาดาและ USA อยู่ด้านล่าง แสดงถึงช่วงเวลาในการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจของสกุลเงิน USD และ CAD
  • ในรูปภาพเกิดเหตุการณ์ FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5% ตามที่คาดการณ์ (Forecast) และเท่ากับครั้งก่อนหน้า (Previous) และกราฟ USDCAD มีการพุ่งขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเหตุการณ์ FED คงอัตราดอกเบี้ย
  • การวิเคราะห์ด้วยเหตุผลว่าทำไมทำไมกราฟ USDCAD จึงพุ่งขึ้นเมื่อ FED คงดอกเบี้ย?
    1. ความแข็งแกร่งของ USD โดยรวม: แม้ดอกเบี้ยคงที่ แต่อย่าลืมว่ามีแถลงการณ์ (Fed Press Conference) จาก FED ตามมาด้วย นักลงทุนอาจมองเห็นสัญญาณเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ดีและเชื่อมั่นที่จะถือสกุลเงิน USD ต่อไป
    2. ความอ่อนแอของ CAD: เมื่อเราดูข้อมูลทางฝั่งแคนาดาก็พบคำตอบว่า Ivey PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของแคนาดา ต่ำกว่ามาตรฐานที่ 50 ก็อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ CAD อ่อนค่า
    3. การปิด Position ของนักลงทุน: เมื่อมีการประกาศข้อมูลเหล่านี้ออกมา เทรดเดอร์ที่ถือคำสั่ง Sell อาจจะปิดออเดอร์เพราะเห็นแนวโน้มจากข้อมูลที่ได้กล่าวไป

ตารางเปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อยของทั้งสอง

บางคนคิดว่าจำเป็นต้องเลือกวิเคราะห์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ขอบอกเลยว่าไม่ใช่คร้าบ! เราควรใช้ทั้ง 2 แบบวิเคราะห์ร่วมกัน แต่จะให้น้ำหนักทางฝั่งไหนเยอะกว่าอันนี้แล้วแต่บุคคลละกันครับ ทีมงาน Thai Forex Broker เลยสรุปความแตกต่าง รวมถึงจุดเด่น จุดด้อยของทั้ง 2 แบบมาให้ด้านล่างนี้

Technical Analysis Fundamental Analysis
ข้อมูลหลักที่ใช้ รูปแบบกราฟราคาในอดีตและปริมาณการซื้อขาย ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมืองและปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อมูลค่าสกุลเงิน
เป้าหมาย จับจังหวะการเข้า-ออกตลาด ประเมินมูลค่าที่แท้จริงและแนวโน้มระยะยาว
เหมาะสำหรับ Day Trading, Swing Trading Swing Trading, Position Trading, Investment
จุดเด่น – ให้สัญญาณซื้อขายที่ค่อนข้างชัดเจนและรวดเร็ว

– สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสภาวะตลาด

– มีเครื่องมือและเทคนิคหลากหลายให้เลือกใช้

– เข้าใจถึงปัจจัยขับเคลื่อนราคาในระยะยาว

– ให้มุมมองในเชิงลึกเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

จุดด้อย – สัญญาณอาจเกิดสัญญาณหลอก (False Signal)

– ต้องระวังปัจจัยพื้นฐานที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

– การตีความสัญญาณมีความแตกต่าง

– ไม่แม่นยำในการคาดการณ์การเคลื่อนไหวระยะสั้น

– ต้องใช้การติดตามข้อมูลอย่างเคร่งครัดเพื่อวิเคราะห์

– ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน

 

การวิเคราะห์ทางเทคนิคและทางปัจจัยพื้นฐานมีความแตกต่างกันอย่างมาก เทรดเดอร์ควรใช้การวิเคราะห์ทั้ง 2 แบบ ขึ้นกับการสไตล์การเทรดของเราเป็นแบบไหน เช่น หากเราเป็น Scalping ก็เน้นการวิเคราะห์ทางเทคนิคมากกว่าแต่ต้องไม่ลืมในการรับข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อเลี่ยงช่งที่ผันผวนรุนแรง


วิดีโอเกี่ยวกับการวิเคราะห์ Technical vs Fundamental

 

เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างและข้อดีของแต่ละแบบให้เห็นภาพชัดขึ้น ทีมงานเลยไปหาวิดีโอที่อธิบายความแตกต่างระหว่าง Technical vs Fundamental แบบไหนดีกว่ากัน? ซึ่งในเนื้อหาวิดีโอได้อธิบายได้น่าสนใจมากครับ

  • Focus นาทีที่ 00:42 Fundamental Analysis คืออะไร?
  • Focus นาทีที่ 01:11 Technical Analysis คืออะไร?
  • Focus นาทีที่ 01:38 การเปรียบเทียบทั้ง 2 แบบ

สรุป

หากจะแบ่งให้ชัดเจนระหว่างการวิเคราะห์ทางเทคนิคและพื้นฐาน ก็อาจจะบอกได้ว่าวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้ในการหาจุดเข้าเทรดส่วนการวิเคราะห์ทางพื้นฐานใช้ในการมองกรอบระยะยาวของคู่เงิน แบบนี้น่าจะทพให้หลายคนเข้าใจได้ง่ายและเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จต้องผสมผสานการวิเคราะห์ทั้งสองแบบเพื่อการวิเคราะห์ที่รอบคอบและเพิ่มโอกาสในการทำกำไรเพื่ออยู่รอดในตลาด Forex แห่งนี้

ทีมงาน : thaiforexbroker.com

สารบัญบทความ