Liquidity กับ Price Level ทำไมรายใหญ่เลือกเข้าเทรดตรงจุดนี้?

สังเกตไหมว่าทุกครั้งเวลาเทรด Forex มักจะมีบริเวณหรือระดับราคาที่กราฟมักจะเด้งขึ้นหรือเด้งลง ในจุดนี้จุดเดิมซ้ำๆ เทรดเดอร์รายย่อยอย่างเรามองเห็นเป็นแนวรับ/แนวต้าน แต่รายใหญ่กลับไม่ได้มองแบบนั้น พวกเขามองเห็น ”Liquidity” มันคือของหวานสำหรับพวกเขา ทำไมน่ะหรอ? คำตอบอยู่ในบทความนี้ครับ


Highlight บทคัดย่อ

  • Liquidity คือปริมาณคำสั่งซื้อขายจำนวนมากในระดับราคาต่างๆ ที่รายใหญ่มองหาเพื่อเติมเต็มคำสั่งขนาดใหญ่ของตัวเอง, สร้างโมเมนตัมและหาจุดกลับตัวของราคา ขณะที่รายย่อยมองเห็นเป็นเพียงแนวรับ/แนวต้าน
  • รายใหญ่ไม่ได้คาดการณ์ทิศทางราคา แต่สร้างเงื่อนไขให้ราคาเคลื่อนไหวตามต้องการ ผ่านเทคนิคอย่าง
    • False Breakout
    • Stop Hunt
    • Fakeout
  • ตัวอย่างการ Stop Hunt ที่รายใหญ่ใช้เพื่อเติม Liquidity ให้ตัวเองเข้าตลาดได้ในปริมาณมาก โดยพุ่งเป้าไปที่บริเวณที่มีคำสั่งซื้อขายหนาแน่น เพื่อสร้างโอกาสเทรดแบบ Low Risk/High Reward
  • สำหรับเทรดเดอร์รายย่อยมีคำแนะนำคือ ควรอดทนรอจังหวะไม่ไล่ราคา, วิเคราะห์เชิงลึกด้วย Volume, Order Flow และ Price Action และเน้นเทรดตาม Zone แทนที่จะยึดติดกับระดับราคาแบบตายตัว

Liquidity คืออะไร? ทำไมรายใหญ่ต้องใช้มัน

  • Liquidity หรือสภาพคล่องในตลาด Forex พูดง่ายๆ คือปริมาณคำสั่งซื้อขายที่มีอยู่จำนวนมาก ณ ระดับราคาต่างๆ ในตลาด
    • ตัวอย่าง: ถ้าเราอยากขายหุ้น 1,000 หุ้น แต่มีคนรอซื้ออยู่แค่ 100 หุ้น = ตลาดขาดสภาพคล่อง เพราะปริมาณซื้อขายน้อย จำเป็นต้อง Slippage แต่ถ้ามีจำนวนคนรอซื้อหุ้นมากๆ หุ้น 1,000 หุ้น อาจจะขายได้อย่างรวดเร็วในราคาที่ดีกว่า
  • เหตุผลที่รายใหญ่สนใจ Liquidity เหล่านี้ ก็เพราะ…
    1. เติมเต็มคำสั่งของตัวเอง: การที่รายใหญ่จะซื้อขายในสถานะขนาดใหญ่โคตรๆ ได้ พวกเขาต้องการคู่สัญญา” จำนวนมากในราคาที่ต้องการ ซึ่งจุดที่มี Liquidity เยอะๆ เป็นเหมือนแหล่งรวมของคำสั่งที่สามารถเติมเต็มออเดอร์ของพวกเขาได้โดยไม่ทำให้ราคาเคลื่อนไหวผิดปกติ
    2. สร้างโมเมนตัม: บางครั้งรายใหญ่อาจตั้งใจดันราคาไปยังบริเวณที่มี Stop Loss หรือ Pending Orders เยอะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานของคำสั่งเหล่านั้น มันจะได้ทั้งปริมาณและสร้างโมเมนตัมในทิศทางที่รายใหญ่ต้องการ
    3. หาจุดกลับตัว: บริเวณที่มี Liquidity หนาแน่นอาจเป็นจุดที่รายใหญ่เข้าซื้อหรือขายเพื่อกลับทิศทางราคา เช่น หลอกให้ราคาหลุดแนวรับเพื่อให้รายย่อยเทขาย แล้วรายใหญ่เข้าซื้อที่ราคาต่ำ
เหตุผลที่รายใหญ่สนใจ Liquidity
เหตุผลที่รายใหญ่สนใจ Liquidity ในตลาด Forex ประกอบด้วยเหตุผลหลักๆ ดังนี้ เพื่อสร้างโมเมนตัมในตลาด, หาจุดกลับตัวของราคา, เพื่อหาคู่สัญญาในการเทรดและเติมเต็มออเดอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น

Price Level สำคัญยังไง?

  • Price Level หรือระดับราคาก็ต่อมาจาก Liquidity อีกที ระดับราคาที่กราฟมักจะหยุด-กลับตัว-ทะลุ ซ้ำๆ จะถือว่า Price Level นั้น มีบทบาทสำคัญต่อตลาด
  • อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า Price Level นี่แหละที่เทรดเดอร์รายย่อยมองเห็นเป็นแนวรับ/แนวต้าน แต่รายใหญ่กลับมองเป็น Liquidity Pool = พื้นที่ที่มี Stop Loss หรือ Pending Orders ของรายย่อยจำนวนมาก
  • ความแตกต่างระหว่างรายย่อยกับรายใหญ่คือ รายใหญ่ไม่ได้คาดการณ์ว่าราคาจะไปไหน แต่พวกเขาสร้างเงื่อนไขให้ราคาเคลื่อนไปทิศที่เขาอยากให้ไป เช่น
    • Breakout หลอก: ดันราคาให้ทะลุแนวต้านสำคัญ คนแห่ไล่ซื้อแต่รายใหญ่เทขายใส่ทันที ราคากลับเข้าแนวเดิม รายย่อยที่ออกออเดอร์ก็ขาดทุน
    • Stop Hunt: ดันราคาไปแตะจุดที่มี Stop Loss เยอะ สร้างสภาพคล่องให้เข้า Position หลังจากนั้นราคาก็มักจะกลับตัวไปยังทิศทางเดิม
    • Fakeout: สร้างสัญญาณเท็จให้นักเทรดรายย่อยเข้าใจผิดและเข้าสู่ตลาดในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเปิดสวนให้รายย่อยขาดทุน
    • Whipsaw: คล้ายกับ Stop Hunt คือการทำให้ราคาที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คล้ายกับการเลื่อยไม้ เทรดเดอร์ที่พยายามจับทิศทางอาจพลาดจังหวะและอาจถูก Stop Loss หรือตัดสินใจปิดสถานะด้วยความตกใจ
กับดักการเทรดของรายใหญ่
กับดักที่รายใหญ่มักจะใช้เพื่อกวาดออเดอร์รายย่อยสะสมเป็น Liquidity ก็เช่น การใช้ Stop Hunt เจอบ่อยาก, False Breakout, การปั่นให้กราฟราคาแกว่งแบบรุนแรง (Whipsaw) หรือแม้แต่การปล่อยข่าวลวงหรือสร้างสัญญาณหลอก

ตัวอย่างการเข้าเทรดของรายใหญ่

ตัวอย่าง Stop Hunt บนกราฟ
ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าราคาลงมา เบรคแนวรับ (Demand Zone) ซึ่งปกติจะดึงดูดเทรดเดอร์ให้เปิด Buy Limit Order หรือเข้า Sell Order ตามการเบรคซึ่งผู้เล่นรายใหญ่รู้ว่าคำสั่งเหล่านี้อยู่ที่ไหนและบางครั้งก็จงใจผลักดันราคาไปเก็บคำสั่งเหล่านี้ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Stop Hunt

จุดสังเกต

  • บริเวณแนวรับที่ถูกเบรคลงมา มักจะมี Buy Limit Order (คำสั่งซื้อรอ) วางอยู่จำนวนมาก เทรดเดอร์ที่เชื่อว่าราคามีโอกาสเด้งขึ้นจากแนวรับเดิมก็จะตั้งออเดอร์ซื้อ(Buy) รอไว้
  • การที่ราคามีปฏิกิริยา ณ ระดับราคาเหล่านี้ สะท้อนถึงการตัดสินใจเทรดตามแนวรับแนวต้านหรือ Demand/Supply Zone ที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ใช้กัน

สิ่งที่เกิดขึ้น

  1. เมื่อราคาลงมาด้วยแรงขาย (Sell Order) มันได้เข้ามาจับคู่กับ Buy Limit Order ที่วางไว้ ทำให้ปริมาณ Buy Order ในบริเวณนั้นลดลง (Liquidity ลดลง) Buy Limit Order ที่ถูกจับคู่ ก็กลายเป็นสถานะซื้อ (Long Position)
  2. เทรดเดอร์ที่เปิด Long Position เหล่านี้ ก็มักจะตั้ง Stop Loss และ Take Profit ซึ่งคำสั่งเหล่านี้ก็เป็นเหมือน Liquidity เช่นกันในตัวอย่าง ส่วนมากรายย่อยก็จะตั้งไว้ใต้กรอบ Demand Zone
  3. เมื่อรายใหญ่ สังเกตเห็นการกระจุกตัวของคำสั่งอย่าง Buy Limit และการตั้ง Stop Loss ของรายย่อย จึงดันราคาลงไปกิน Stop Loss ของรายย่อยบริเวณใต้ Zone ด้วยคำสั่งขาย (Sell) จำนวนมาก
  4. เมื่อ Stop Loss เหล่านั้นทำงาน รายย่อยที่เห็นว่าราคาหลุด Zone จึงรีบเปลี่ยนคำสั่งกลายเป็น Sell Market Order มันก็จะมาเจอกับ Buy Limit Order ที่รายใหญ่วางไว้ ทำให้รายใหญ่ได้เข้าตลาดในราคาที่ดีกว่าและ Stop Hunt ก็เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลนี้

ปล. Stop Hunt ไม่ใช่แค่ “หลอกกิน Stop” แต่เป็นกลยุทธ์เพื่อเติม Liquidity ให้เข้าตลาดได้ในปริมาณมากเพราะรายใหญ่ไม่สนใจทิศทางกราฟเท่ากับ “ตำแหน่งที่มีคำสั่งจำนวนมากรออยู่” เพราะนั่นคือโอกาสในการเข้าเทรดแบบ Low Risk / High Reward


เทรดเดอร์รายย่อยควรเรียนรู้จากรายใหญ่ยังไง?

  1. อดทนรอจังหวะ ไม่ไล่ราคา: แทนที่จะรีบร้อนเข้าเทรดตามการเคลื่อนไหว ควรสังเกตและรอให้เกิดสภาวะที่อาจเป็น “Liquidity Trap” ก็คือพวก False Breakout หรือ Stop Hunt จากรายใหญ่นี่แหละครับ
  2. วิเคราะห์เชิงลึกด้วย Volume, Order Flow, Price Action: 3 อย่างนี้คือพระเอกที่จะช่วยให้รายย่อยไม่ติดกับดักรายใหญ่
    • Volume: แสดงปริมาณการซื้อขาย ระดับราคาต่างๆ เราจะได้เห็นว่าบริเวณไหนมีคำสั่งซื้อขายเยอะ
    • Order Flow: การวิเคราะห์การไหลของคำสั่งซื้อขายแบบเรียลไทม์ เพื่อเช็คความสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขาย
    • Price Action: การวิเคราะห์พฤติกรรมของกราฟราคา เน้นไปที่รูปแบบแท่งเทียนและ Chart Pattern
  1. เข้าใจ Liquidity เชิงลึก: เทรดเดอร์ต้องตระหนักไว้เสมอว่าแนวรับแนวต้านหรือโซน Demand/Supply เป็นพื้นที่ที่มีความผันผวนราคาจะวิ่งไม่ได้ถ้าไม่มีฝั่งตรงข้ามรายใหญ่จึงล่อให้รายย่อยเปิด Order ก่อน
    • จุดที่คนเข้าเทรดเยอะ = จุดที่รายใหญ่จะเข้าเทรดสวน ให้เผื่อพื้นที่สำหรับการแกว่งตัวของราคาไว้เสมอ
คำแนะนำสำหรับเทรดเดอร์รายย่อย
หากเราเป็นเทรดเดอร์รายย่อยที่อยากอยู่รอดบนตลาด Forex สิ่งที่ควรไม่ใช่การต่อต้านหรือต่อกรกับรายใหญ่ แต่คือการรอจังหวะที่ถูกต้องพร้อมเดินตามรอยรายใหญ่ การเข้าใจสัญญาณเมื่อรายใหญ่ขยับจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รายย่อยอย่างเราต้องตามให้ทัน

วิดีโอเกี่ยวกับ Liquidity

 

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Liquidity แบบเชิงลึกมากขึ้น ทีมงานเลยอยากจะแชร์วิดีโอตัวนี้ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและเข้าใจ Liquidity ในตลาด Forex มากยิ่งขึ้นครับ

  • Focus นาทีที่ 00:18 แนวคิดเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity)
  • Focus นาทีที่ 00:48 การระบุพื้นที่สภาพคล่อง Liquidity Zone
  • Focus นาทีที่ 03:07 ปฏิกิริยาของราคาเมื่อต้องเจอ Liquidity Zone

สรุป

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่ารายใหญ่มักจะมองหา Liquidity เป็นหลัก เราจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกเข้าเทรดที่บริเวณนี้ การเคลื่อนไหวของตลาดไม่ได้เกิดจากเรื่องบังเอิญ แต่เป็นเหตุผลจากการหา Liquidity อย่างมีแบบแผนของรายใหญ่ สิ่งเหล่านี้คือข้อมูลความรู้ที่เทรดเดอร์รายย่อยอย่างเราๆ ควรจะต้องเข้าใจการทำงานของรายใหญ่และการเทรดตามรอยเท้าของรายใหญ่จะมีโอกาสชนะมากกว่า

สุดท้ายแล้วตลาด Forex ก็คือกลไกการซื้อขายในระดับใหญ่ ใครที่สามารถมองออกว่า ใครกำลังควบคุมทิศทาง? พวกเขากำลังมองหาอะไร? คนนั้นก็จะมีมุมมองการเทรดที่เหนือกว่าเทรดเดอร์ทั่วไปครับ

ทีมงาน : thaiforexbroker.com

 

สารบัญบทความ