ในปัจจุบันมีผู้คนไม่น้อยที่เป็นเทรดเดอร์แบบ Fulltime แต่ทีนี้คำถามคือ เทรดเดอร์ Forex ต้องเสียภาษีหรือไม่? ถ้าเสียแล้วต้องทำยังไงบ้าง? บทความนี้จะเป็นคู่มือให้กับผู้อ่านในการเสีย “ภาษี Forex” อย่างถูกต้อง ไม่ต้องกังวลกับปัญหาทางกฎหมายในอนาคต
ฉบับย่อโดย Thaiforexbroker.com
- เทรด Forex ต้องเสียภาษี หากมีกำไรจากการเทรด Forex และเข้าเงื่อนไข 3 ข้อ คือ (1) มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ (2) อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน (3) โอนเงินกำไรเข้าบัญชีในประเทศไทย
- กำไรจาก Forex จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยคำนวณภาษีแบบขั้นบันได
- เทรดเดอร์ Forex สามารถลดหย่อนได้ ทั้งจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเทรดและสิทธิลดหย่อนอื่นๆ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เช่น LTF/RMF, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, บริจาค ฯลฯ
Forex คืออะไร? ทำไมต้องเสียภาษี?
- Forex หรือ Foreign Exchange คือการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ Forex ก็เหมือนกับการไปร้านแลกเงิน แต่แทนที่จะเป็นร้านเล็กๆ Forex จัดเป็นตลาดใหญ่ระดับโลกที่มีผู้คนมากมายมาซื้อขายสกุลเงิน
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามันขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา เช่น ถ้าเรามีเงินดอลลาร์เก็บไว้ พอมันแข็งค่าขึ้น เราก็ขายทำกำไรได้ นี่แหละคือการลงทุนใน Forex หรือที่เราคุ้นหูว่าการเทรด Forex
เทรด Forex ทำไมต้องเสียภาษี?
- การเทรด Forex ต้องเสียภาษีก็เพราะว่า “กำไร” ที่ได้จากการเทรด Forex ถือเป็น “เงินได้” ประเภทหนึ่งตามกฎหมายไทย
- ถ้าเราดูตามประกาศกรมสรรพากรจะเห็นว่า “เงินได้” ไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องเกิดจากการทำงานในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงรายได้ที่เกิดจาก “ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย” ด้วย
- เวลาเราเทรด Forex เราใช้บัญชีธนาคารในประเทศไทย ใช้เงินบาทไทยในการซื้อขายและรับเงินกำไรเข้าบัญชีในประเทศไทย ดังนั้นกำไรส่วนนี้ จึงถือเป็นเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินในประเทศไทยและต้องเสียภาษีตามกฎหมาย
การเสียภาษี Forex
ภาษีในประเทศไทย มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือแม้แต่ VAT ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ละแบบก็มีวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดแบบขั้นบันได ยิ่งรายได้เยอะยิ่งเสียภาษีเยอะ เริ่มต้นที่ 0% ไปจนถึง 35%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็คิดแบบขั้นบันไดเหมือนกัน บริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า ตั้งแต่ 20% ถึง 30%
- ส่วน VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราเจอเวลาซื้อของกินของใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 7% แต่ก็มีบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นภาษี
“กำไรจาก Forex จัดเป็น เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 (ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน/เพิ่มทุน) ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี” – กรมสรรพากร
การคำนวณ ภาษี Forex
การเทรด Forex เรารู้แล้วต้องเสียภาษี แต่ก่อนอื่นไม่ใช่เราเริ่มเทรด Forex แล้วจะต้องเสียภาษีในทันที มันมีเงื่อนไข สั้นๆ 3 ข้อ ที่ต้องตรวจสอบว่าเราเข้าข่ายทั้ง 3 ข้อนี้หรือเปล่า
- มีรายได้หรือกำไรจากการลงทุนในต่างประเทศ เพราะ Forex คือการลงทุนในตลาดต่างประเทศ
- อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน หรือก็คือ 6 เดือนนั่นเอง
- โอนเงินกำไรเข้าบัญชีในประเทศไทย ไม่ว่าจะโอนผ่านธนาคารหรือช่องทางไหนก็ตาม
ซึ่งถ้าครบตาม 3 ข้อนี้ จะถือว่าเทรดเดอร์คนนั้นเป็นบุคคลที่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ อัตราภาษีขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิที่เราได้รับ ตามตารางด้านล่างนี้
ขั้นเงินได้สุทธิ | เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของชั้น | อัตราภาษี (%) | ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ (บาท)* | ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น (บาท) |
0 – 150,000 | 150,000 | ยกเว้น | 0 | 0 |
เกิน 150,000 – 300,000 | 150,000 | 5 | 7,500 | 7,500 |
เกิน 300,000 – 500,000 | 200,000 | 10 | 20,000 | 27,500 |
เกิน 500,000 – 750,000 | 250,000 | 15 | 37,500 | 65,000 |
เกิน 750,000 – 1,000,000 | 250,000 | 20 | 50,000 | 115,000 |
เกิน 1,000,000 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25 | 250,000 | 365,000 |
เกิน 2,000,000 – 5,000,000 | 3,000,000 | 30 | 900,000 | 1,265,000 |
เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป | 35 |
ตารางแสดงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกำไรจากการเทรด Forex โดยคิดจากกำไรสุทธิ (หลังหักขาดทุนแล้ว) ยิ่งเทรดได้กำไรมากก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 35%
ตัวอย่างการคำนวณภาษี Forex
- ตัวอย่างที่ 1 : นาย ก เทรด Forex เป็นงานอดิเรก ปีนี้ได้กำไรสุทธิ(หักส่วนที่ขาดทุนไปแล้ว) 100,000 บาท
- เนื่องจากกำไรสุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จึงได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสียภาษี
- แต่! ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพราะนาย ก มีรายได้จากการเทรดเกิน 60,000 บาท
- “การยื่นแบบแสดงรายการ” หมายถึงการยื่นเอกสารเพื่อรายงานรายได้ ค่าใช้จ่ายและภาษีที่เกี่ยวข้องให้กรมสรรพากรทราบ
- ตัวอย่างที่ 2 : นาย ก. เทรด Forex ปีนี้ได้กำไรสุทธิ(หักส่วนที่ขาดทุนไปแล้ว) 400,000 บาท
- 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องเสียภาษี)
- 150,000 บาทถัดมา (150,001 – 300,000 บาท) เสียภาษี 5% จะสามารถคำนวณภาษีได้ = 150,000 x 5 / 100 = 7,500 บาท
- 100,000 บาทถัดมา (300,001 – 400,000 บาท) เสียภาษี 10% คำนวณภาษี = 100,000 x 10 / 100 = 10,000 บาท
- ดังนั้น นาย ก. ต้องเสียภาษีเงินได้จากการเทรด Forex ทั้งหมด = 7,500 + 10,000 = 17,500 บาท
ขั้นตอนในการยื่นเสียภาษีของเทรดเดอร์ Forex
เข้าสู่กระบวนการในการยื่นภาษีของเหล่าเทรดเดอร์ Forex ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยหลักๆ จะมีอยู่ 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมตัวก่อนยื่นภาษี
- ตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าเข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ (ตามที่อธิบายไปก่อนหน้านี้)
- รวบรวมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี รายละเอียดบัญชีธนาคาร หลักฐานการเทรด Forex (Statement) หลักฐานการโอนเงิน ฯลฯ
- คำนวณกำไรสุทธิ จากการเทรด Forex โดยหักลบกับค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) และขาดทุน (ถ้ามี)
- เลือกวิธีการยื่นภาษี มี 2 ช่องทาง คือ
- ยื่นแบบออนไลน์ : ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง
- ยื่นแบบด้วยตนเอง : ที่สำนักงานสรรพากรในแต่ละพื้นที่
ขั้นตอนที่ 2 : กรอกแบบแสดงรายการภาษี
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 จากเว็บไซต์กรมสรรพากรหรือขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากร
- กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน โดยกรอกรายได้ ค่าใช้จ่ายและภาษี ที่คำนวณไว้แล้วลงในช่องที่กำหนด ตัวอย่างเช่น
- สถานะการยื่นแบบ : ให้เลือก “รวมคำนวณภาษี” (ในช่อง (1) หรือ (2)) เนื่องจากเทรดเดอร์ Forex มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) คือ กำไรจากการขายเงินตราต่างประเทศ
- สถานภาพของผู้มีเงินได้ : ให้เลือก “บุคคลธรรมดา” (ช่อง (1))
- มาตรา 40 (4) ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ : ช่องนี้สำคัญ! ให้กรอกกำไรสุทธิจากการเทรด Forex ที่คำนวณได้แล้ว ลงในช่องนี้
ขั้นตอนที่ 3 : ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
- ยื่นแบบออนไลน์: อัพโหลดแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ที่กรอกเรียบร้อยแล้ว พร้อมแนบเอกสารประกอบ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
- ยื่นแบบด้วยตนเอง: นำแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 พร้อมเอกสารประกอบ ไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ขั้นตอนที่ 4 : ชำระภาษี
- ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระ เราสามารถชำระได้หลายช่องทาง เช่น ชำระผ่านธนาคาร ชำระผ่านอินเทอร์เน็ต ชำระที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ฯลฯ
- เก็บหลักฐานการชำระภาษีไว้เพื่อใช้ในการยืนยันข้อมูลทางกฎหมายในอนาคต
เทรดเดอร์ Forex สามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?
หลายคนอาจจะคิดว่า เทรด Forex นั้นเสียภาษีอย่างเดียว ไม่มีสิทธิลดหย่อน แต่จริงๆ แล้วเทรดเดอร์ Forex ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ หลักการ คือ เราสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเทรด Forex มาหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น
- ค่าคอมมิชชั่น : ค่าธรรมเนียมที่เราจ่ายให้โบรกเกอร์ เวลาเปิด-ปิดออเดอร์
- ค่าสวอป : ดอกเบี้ยที่เกิดจากการถือสถานะข้ามคืน
- ค่า VPS : ค่าเช่า Virtual Private Server (ถ้ามี) เพื่อให้ระบบเทรดทำงานได้เสถียรยิ่งขึ้น
- ค่าอินเทอร์เน็ต : ที่ใช้สำหรับการเทรด Forex
- ค่าไฟฟ้า : ที่ใช้กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเทรด เช่น คอมพิวเตอร์
- ค่าอบรม : ค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรม สัมมนา หรือ Workshop เกี่ยวกับ Forex (ต้องมีใบเสร็จรับเงิน)
- ค่าหนังสือ : ค่าหนังสือ E-book หรือสื่อการเรียนรู้ ที่เกี่ยวกับ Forex (ต้องมีใบเสร็จรับเงิน)
สิ่งสำคัญคือต้องมีหลักฐานประกอบ เช่น ใบเสร็จรับเงิน Statement จากโบรกเกอร์ เพื่อใช้ยืนยันค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่เทรดเดอร์ Forex อย่างเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลได้ เช่น
ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
- ตัวเอง : 60,000 บาท (ได้ทุกคน)
- คู่สมรส : 60,000 บาท (สำหรับคนมีคู่)
- บุตร : คนละ 30,000 บาท แต่ถ้าลูกคนที่สองเกิดหลังปี 2561 ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- พ่อแม่ : อายุ 60 ปีขึ้นไป ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ต้องอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดู)
- ผู้พิการ : คนละ 60,000 บาท
ลดหย่อนจากการทำประกัน
- ประกันชีวิต/สะสมทรัพย์ : สูงสุด 100,000 บาท (รวมกันทุกกรมธรรม์)
- ประกันบำนาญ : สูงสุด 200,000 บาท หรือไม่เกิน 15% ของรายได้ (แล้วแต่ว่าอันไหนน้อยกว่า)
- ประกันสุขภาพ : ของตัวเอง 25,000 บาท ของพ่อแม่ 15,000 บาท
- ประกันสังคม : สูงสุด 9,000 บาท
ลดหย่อนจากการลงทุน
- RMF : กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท หรือไม่เกิน 30% ของรายได้
- SSF : กองทุนเพื่อการออม ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท หรือไม่เกิน 30% ของรายได้
- PVD : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท หรือไม่เกิน 15% ของรายได้
- กองทุนข้าราชการ : ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท หรือไม่เกิน 30% ของรายได้
- กองทุนการออมแห่งชาติ : สูงสุด 30,000 บาท
ตัวอย่างการคำนวณ ภาษี Forex (กรณีมีการลดหย่อน)
นาย ต. เป็นเทรดเดอร์มืออาชีพ แต่งงานแล้ว มีลูก 2 คนและต้องเลี้ยงดูพ่อแม่
รายได้และค่าใช้จ่าย
- กำไรจากการเทรด Forex : 1,500,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการเทรด : 200,000 บาท (เช่น ค่าคอมมิชชั่น, ค่า VPS, ค่าอินเทอร์เน็ต)
- กำไรสุทธิ : 1,500,000 – 200,000 = 1,300,000 บาท
การลดหย่อนภาษี
- ลดหย่อนส่วนตัว : 60,000 บาท
- คู่สมรส : 60,000 บาท
- บุตร 2 คน : 60,000 บาท (คนละ 30,000 บาท) กรณีลูกเกิดก่อนปี พ.ศ. 2561
- พ่อแม่ : 60,000 บาท (คนละ 30,000 บาท)
- ประกันชีวิต : 100,000 บาท
- รวมค่าลดหย่อน : 340,000 บาท
การคำนวณภาษี
- เงินได้สุทธิหลังหักลดหย่อน : 1,300,000 – 340,000 = 960,000 บาท
- คำนวณภาษีตามขั้นบันได
- 150,000 บาทแรก : ยกเว้นภาษี
- 150,000 บาทถัดมา : เสียภาษี 5% = 7,500 บาท
- 200,000 บาทถัดมา : เสียภาษี 10% = 20,000 บาท
- 250,000 บาทถัดมา : เสียภาษี 15% = 37,500 บาท
- 210,000 บาทที่เหลือ : เสียภาษี 20% = 42,000 บาท
- ภาษีที่ต้องจ่าย : 7,500 + 20,000 + 37,500 + 42,000 = 107,000 บาท
สรุป : นาย ต. มีกำไรสุทธิจากการเทรด Forex 1,300,000 บาท หลังหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ต้องเสียภาษี 107,000 บาท
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ภาษี forex
- ถาม : ใช้บัญชี offshore เทรด Forex ต้องเสียภาษีในไทยไหม?
- ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่า เทรดเดอร์มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ถ้านับว่ามีถิ่นที่อยู่ในไทยตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไปก็ต้องเสียภาษี แม้ว่าจะใช้บัญชี offshore ก็ตาม
- ถาม : เทรด Forex กับโบรกเกอร์ต่างประเทศต้องเสียภาษีไหม?
- ตอบ : ต้องเสียถ้าเข้าเงื่อนไข 3 ข้อ (ด้านบน) ไม่ว่าจะเทรดกับโบรกเกอร์ในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องเสียภาษี
- เทรด Forex ขาดทุนต้องยื่นภาษีไหม?
- ตอบ : ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 เช่นกัน แม้ว่าจะขาดทุน แต่ต้องยื่นเพื่อแสดงว่า “ไม่มีกำไร” จากการเทรด Forex ในปีนั้นๆ
วิดีโอเกี่ยวกับการเสียภาษีจากการเทรด Forex
ก่อนลากันไปทีมงานของเราไปเจอคลิปวิดีโอสั้นๆ ประมาณ 2 นาที ที่เนื้อหาอธิบายเกี่ยวกับ เทรดได้เงินเยอะ เสียภาษีอย่างไร? โดยในคลิปจะพูดถึงการถอนเงินจากการเทรดในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องเสียภาษีและบางช่องทางที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งมองว่าเป็นเนื้อที่มีประโยชน์และตอบโจทย์เทรดเดอร์ Forex มากๆ
- Focus นาทีที่ 00:22 การถอนแบบมาตรฐานและแบบบริษัท
- Focus นาทีที่ 01:06 การถอนเงินสดจากโบรกเกอร์
- Focus นาทีที่ 01:27 การถอนเงิน Cryptocurrency และ Gateway อื่น ๆ
สรุป
การเทรด Forex นั้น นอกจากจะต้องฝึกฝนทักษะวิเคราะห์ตลาดและบริหารความเสี่ยงแล้ว สิ่งสำคัญที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องไม่ลืมคือ “หน้าที่ในการเสียภาษี” เพราะมันคือความรับผิดชอบของผู้ที่ที่มีรายได้ทุกคน ซึ่งการเสียภาษีตามกฎหมายไทยนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากมาย เพียงแต่เทรดเดอร์ต้องมีการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเอาไว้เพื่อแสดงหลักฐานในการเทรดให้ครบถ้วนและทำตามขั้นตอนตามที่บทความได้ระบุเอาไว้ได้เลย
ก็หวังว่าบทความคู่มือฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับเทรดเดอร์ Forex ทุกคนในการยื่นภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้ภาษีของเราเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและสร้างความมั่นคงให้กับเส้นทางการลงทุนในระยะยาวต่อไป