มีข้อมูลหลากหลายประเภทที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาเนิ่นนาน
แต่ในบทความนี้เราไม่ได้จะพูดถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบแต่จะเจาะลึกเกี่ยวกับข่าว Existing Home Sales อย่างละเอียด ตั้งแต่ความหมาย ปัจจัยที่มีผลต่อนักลงทุนและเทรดเดอร์ ไปจนถึงแนวโน้มในอนาคตของวงการอสังหาริมทรัพย์จะเป็นอย่างไร?
ฉบับย่อโดย Thaiforexbroker.com
- Existing Home Sales คือ จำนวนยอดขายบ้านมือสองโดยจะนับเมื่อทำการปิดการขายแบบสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
- ตัวเลข Existing Home Sales จะถูกรายงานโดย National Association of Realtors (NAR) เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งตัวเลขที่ประกาศออกมาล้วนส่งผลกระทบต่อภาพรวมหลายๆ ด้าน
- รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อ Existing Home Sales ก็มาจากเศรษฐกิจ ปัจจัยทางสังคมและปัจจัยเฉพาะของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ
- แนวโน้มในอนาคตของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงการปรับสมดุล ราคาของบ้านจะไม่พุ่งแรงมากนัก รวมถึงดอกเบี้ยจำนองก็จะปรับตัวคงที่
Existing Home Sales คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ?
- Existing Home Sales คือ จำนวนยอดขายบ้านมือสองในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยปกติแล้วจะรวมทั้งบ้านเดี่ยว คอนโด และอาคารชุดต่าง ๆ ที่เคยมีเจ้าของมาก่อนแล้ว
- รายงานการขายบ้านมือสองจะรายงานตัวเลขออกมาทุกเดือนโดย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ (NAR) อ้างอิงจากการทำธุรกรรมที่ซื้อขายเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น
- สรุปข่าว Existing Home Sales ก็คือการรายงานตัวเลขที่บอกให้รู้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของบ้านมือสองเป็นอย่างไร มีปริมาณขายเท่าไหร่? เรามาทำความเข้าใจว่าตัวเลขนี้มันสำคัญยังไงกันต่อดีกว่า
ทำไมเราต้องสนใจตัวเลข Existing Home Sales?
เพราะข่าว Existing Home Sales หรือการขายบ้านมือสองเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ตัวเลขนี้มันมีผลกระทบต่อชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน เช่น
- บ่งบอกภาพรวมเศรษฐกิจ
- ตัวเลข Existing Home Sales ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม หากตัวเลขสูง แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโต เพราะคนมีกำลังในการซื้อบ้านและบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของผู้บริโภคไปในตัว
- ในทางตรงกันข้ามหากตัวเลขต่ำ แสดงถึงสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะผู้คนไม่มีกำลังในการซื้อบ้าน
- โดยทั่วไปรัฐบาลและธนาคารกลางจะใช้ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลในการประเมินสภาพเศรษฐกิจ และวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย
- ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์
- ตัวเลข Existing Home Sales ช่วยให้เห็นภาพรวมของอุปสงค์และอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถพิจารณาแนวทางการลงทุน
- นักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะใช้ตัวเลขนี้ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทใด และในทำเลใด และราคาไหนคือราคาที่เหมาะสม
- ตัวเลข Existing Home Sales มีผลโดยตรงต่อราคาบ้าน หากความต้องการซื้อบ้านสูง (ตัวเลขสูง) ราคาบ้านก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แต่หากความต้องการลดลง (ตัวเลขต่ำ) ราคาบ้านก็อาจจะลดลง
- การตัดสินใจซื้อบ้าน
- สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้าน ตัวเลขนี้สามารถเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการวางแผน หากยอดขายเพิ่มขึ้น อาจหมายถึงว่าตลาดบ้านมีความต้องการสูง ราคาบ้านมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น
- หากตลาดคึกคักจะมีตัวเลือกบ้านให้เลือกเยอะเพราะคนขายต้องการขายในราคาที่ดี แต่หากตลาดซบเซา ตัวเลือกอาจจะน้อยลงเพราะคนขายรู้ดีว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการขาย
- เป็นข้อมูลสำคัญของธนาคารและสถาบันการเงิน
- ตัวเลข Existing Home Sales มักถูกใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของธนาคารกลางในการปรับอัตราดอกเบี้ย
- เมื่อยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Loans) จากธนาคารก็เพิ่มขึ้นด้วย ธนาคารจึงมีโอกาสปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน
- หากยอดขายบ้านลดลง อาจเป็นสัญญาณว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารและสถาบันการเงินจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้ด้วย
ความแตกต่างระหว่าง Existing Home Sales กับ New Home Sales
ใครที่ได้อ่านข่าวเศรษฐกิจบ่อยๆ น่าจะเคยสับสนระหว่าง Existing Home Sales กับ New Home Sales แม้ว่ามันจะต่างกันตรงที่บ้านใหม่กับบ้านมือสอง แต่ที่จริงแล้วข้อมูลและการวิเคราะห์ รวมถึงนิยามของมันแตกต่างกันอย่างมาก
ความแตกต่างของ Existing Home Sales กับ New Home Sales ทั้งเรื่องของนิยามรวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจในภาพรวม
Existing Home Sales |
New Home Sales |
|
นิยาม | การซื้อขายบ้านที่เคยมีผู้อาศัยอยู่มาก่อนแล้ว | การซื้อขายบ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ หรือยังสร้างไม่เสร็จก็ได้ |
เวลาในการรายงานข้อมูล | รายงานหลังข้อมูลการขายบ้านใหม่ประมาณ 1-2 เดือน | รายงานก่อนข้อมูลการขายบ้านมือสองประมาณ 1-2 เดือน |
ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบ | อุปทานของบ้านมือสอง | อัตราดอกเบี้ย |
ข้อมูลนี้บ่งบอกอะไร | บอกถึงสภาพตลาดปัจจุบัน | บอกถึงความเชื่อมั่นในอนาคต |
- ที่จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งตัวเลขที่อยู่ระหว่าง Existing Home Sales กับ New Home Sales ซึ่งก็คือ Pending Home Sales
- Pending Home Sales เป็นตัวเลขที่อยู่ระหว่างกลางของการซื้อขายบ้านมือสองที่สัญญาซื้อขายเสร็จสิ้นแล้วแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์
- ซึ่งตัวเลข Pending Home Sales มีไว้เพื่อให้เห็นภาพของตลาดที่ชัดเจนขึ้น ว่าจะมีการซื้อขายบ้านมือสองเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหนในอนาคต
Existing Home Sales vs New Home Sales จะใช้ตัวไหนในการวัดภาพรวมเศรษฐกิจหล่ะ?
Existing Home Sales (ยอดขายบ้านมือสอง) กับ New Home Sales (ยอดขายบ้านใหม่) ใครคือตัวชี้วัดเศรษฐกิจตัวจริง?
คำตอบคือ… Existing Home Sales มักถูกนำมาใช้วัดภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจมากกว่า เพราะอะไรมาดูกันครับ
- ตลาดใหญ่กว่าเยอะ: ตลาดบ้านมือสองมีขนาดใหญ่กว่าบ้านใหม่หลายเท่า ทำให้ Existing Home Sales เป็นภาพสะท้อนตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมได้ชัดเจนกว่า
- กระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน: การซื้อขายบ้านมือสองดึงธุรกิจอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วยเพียบ เช่น ธุรกิจนายหน้า ค่าธรรมเนียมโอน และการกู้ยืมเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า
- เปลี่ยนแปลงไวๆ ถี่ๆ : ถ้ามีปัจจัยอะไรมากระทบ.. Existing Home Sales จะเปลี่ยนแปลงบ่อยและรวดเร็วกว่า New Home Sales ทำให้วัดสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้ดีกว่านั่นเอง
แต่เดี๋ยวก่อน New Home Sales ก็มีความสำคัญ ด้วยเช่นกัน:
- เอาไว้มองเทรนด์การลงทุนในอนาคต: New Home Sales บอกเราได้ว่าคนมองอนาคตยังไง? กล้าลงทุนซื้อบ้านใหม่ไหม? ภาคก่อสร้างจะคึกคักแค่ไหน? ก็ดูได้จากตรงนี้แหละ
- ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าได้: New Home Sales จะส่งสัญญาณแนวโน้มของตลาดในอนาคต เพราะกระบวนการซื้อขายบ้านใหม่ใช้เวลานานกว่า
สรุปง่ายๆ คือ Existing Home Sales เป็นตัวชี้วัดหลัก แต่ New Home Sales ก็ช่วยให้เรามองเห็นอนาคตได้ ดังนั้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ต้องจับตาดูทั้งคู่ ถึงจะครบเครื่อง
ปัจจัยที่มีผลต่อ Existing Home Sales
ปัจจัยที่มีผลต่อ Existing Home Sales เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยเฉพาะของตลาดอสังหาริมทรัพย์เอง ดังนี้
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
- อัตราดอกเบี้ย : อัตราดอกเบี้ยจำนองที่ต่ำจะกระตุ้นให้ผู้คนต้องการซื้อบ้านมากขึ้น เนื่องจากค่าผ่อนชำระรายเดือนจะต่ำลง ในทางกลับกันอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อลดลง
- อัตราการว่างงาน : เมื่ออัตราการว่างงานต่ำและรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายบ้านมือสอง
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจที่เติบโตจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการลงทุนและสร้างงาน
- นโยบายทางการเงินและการคลัง: นโยบายของรัฐบาล เช่น การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้านของผู้บริโภค
ปัจจัยทางสังคม
- การเปลี่ยนแปลงของประชากร : การเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือน การแต่งงาน การมีบุตร จะส่งผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัย
- ไลฟ์สไตล์ : การเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ เช่น ความต้องการพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น หรือต้องการอยู่ในทำเลที่ใกล้ชุมชน จะส่งผลต่อความต้องการประเภทของบ้าน
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค: ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้าน
ปัจจัยเฉพาะของตลาดอสังหาริมทรัพย์
- อุปทานและอุปสงค์: อุปทานและอุปสงค์ของบ้านมือสองจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคา และตามมาด้วยจำนวนการซื้อขายที่เปลี่ยนไป
- สภาพของบ้าน: สภาพของบ้านที่อยู่อาศัย เช่น อายุของบ้าน ขนาดของบ้าน ทำเลที่ตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน จะมีผลต่อราคาขายและความต้องการของผู้ซื้อ
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย: ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้าน เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษี และค่าส่วนกลาง จะมีผลต่อต้นทุนโดยรวมของผู้ซื้อ
ปัจจัยอื่นๆ
- ภัยธรรมชาติ: ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือพายุ จะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
แหล่งข้อมูลข่าว Existing Home Sales ที่น่าสนใจ
ข่าว Existing Home Sales จะประกาศเป็นประจำทุกเดือนจากองค์กรของแต่ละประเทศ ในที่นี้เราจะเน้นข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพราะเป็นประเทศที่ส่งผลต่อสกุลเงิน USD โดยตรงและกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด การติดตามข่าวสารและตัวเลขของ Existing Home Sales สามารถติดตามได้ผ่านช่องทางหลักๆ ดังนี้
1. National Association of Realtors (NAR)
- NAR เป็นองค์กรอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับตัวเลข Existing Home Sales ของสหรัฐฯ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ realtors
- ข้อมูลจาก NAR นั้นถูกต้อง แม่นยำและอัพเดท มีการรายงานตัวเลขอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมีการวิเคราะห์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ
2. เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจชั้นนำ
- เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจจะมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือข่าว Existing Home Sales โดย เว็บไซต์ที่นิยมได้แก่
- Investing.com เสนอข้อมูลตัวเลข Existing Home Sales ที่อัปเดตทันที พร้อมกับกราฟและเครื่องมือวิเคราะห์ที่เหล่านักลงทุนต้องการ
- ForexFactory เน้นข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) จึงมีการรายงานตัวเลข Existing Home Sales พร้อมกับปฏิทินเศรษฐกิจอื่น ๆ
- Bloomberg แหล่งข่าวทางการเงินชั้นนำที่ให้ข้อมูลเชิงลึกและวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ครอบคลุมเกี่ยวกับตัวเลข Existing Home Sales
ภาพรวมของตลาดบ้านมือสองในสหรัฐฯ
กราฟแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขายบ้านมือสองในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1968 ถึง 2024 โดยรวมแล้ว ยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว แม้จะมีช่วงเวลาที่ผันผวนและลดลงบ้างก็ตาม
- โตขึ้นเรื่อยๆ: ถึงจะขึ้นๆ ลงๆ บ้าง แต่ภาพรวมคือตลาดบ้านมือสองเติบโตขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าคนอเมริกันต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แถมเศรษฐกิจก็แข็งแกร่งด้วย
- ตลาดบ้านได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ: เห็นได้ชัดว่ามีช่วงที่ยอดขายตกฮวบ เช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ที่ยอดขายลดลงอย่างมาก หรือช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
- หลายๆปัจจัยที่มีผล: ยอดขายบ้าน(มือสอง) ก็ได้รับผลกระทบจากหลากหลายปัจจัย เช่น อัตราดอกเบี้ยขึ้น/ลง นโยบายของรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจโดยรวม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
แนวโน้มในอนาคตของตลาดอสังหาริมทรัพย์
เรามาดูกันบ้างดีกว่าว่าในวงการตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอีก 5 ปี ข้างหน้าของประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างและเราควรเตรียมพร้อมรับมือยังไงในฐานะของนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจในอสังหาริมทรัพย์
1. ราคาบ้านในอีก 5 ปีข้างหน้า
- หลังจากที่ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ราคาบ้านจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงและคงที่มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาจะลดลง
- การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อลดลง ทำให้ราคาบ้านไม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนแต่ก่อน
- ราคาบ้านในแต่ละพื้นที่อาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
2. อัตราดอกเบี้ยในอีก 5 ปีข้างหน้า
- ในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจำนองจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงพยายามควบคุมเงินเฟ้อ และหลังจากนั้นก็จะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย
- เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ผู้ซื้อบ้านจะมีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งการที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อลดลง ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงด้วย
3. ความน่าจะเป็นของวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง
- ความน่าจะเป็นที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเกิดวิกฤติรุนแรงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับวิกฤติปี 2008 ด้วยเหตุผลดังนี้
- ผู้คนยังคงมีความต้องการซื้อบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน
- กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดอีก
- การขาดแคลนบ้านในตลาดช่วยป้องกันไม่ให้ราคาตกอย่างรวดเร็ว
- รัฐบาลมีประสบการณ์ในการจัดการกับวิกฤติ และมีเครื่องมือในการป้องกันจากวิกฤตครั้งก่อนหน้า
4. การคาดการณ์อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์
- ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับปัญหา ปริมาณบ้านที่มีอยู่น้อยกว่าความต้องการ ทำให้ราคาบ้านสูงขึ้น และผู้ซื้อหาบ้านยากขึ้น
- ในอนาคตหากรัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้าง และบริษัทรับสร้างบ้านเพิ่มกำลังการผลิต ปริมาณบ้านอาจเพิ่มขึ้นได้ แต่! หากต้นทุนยังสูง และขั้นตอนการอนุมัติยังซับซ้อน ปริมาณบ้านอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
- ปัจจัยข้อนี้ยังถือคาดการณ์แบบมั่นใจยังไม่ได้เต็มที่ต้องรอดูว่ามีการสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่และปริมาณบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง
5. แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม
- ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ในช่วงการปรับสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยจำนองคาดว่าจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
- คาดว่าราคาบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาแต่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค
- คาดว่าตลาดจะชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องจากความต้องการซื้อยังมีอยู่ และสินค้าคงคลังมีน้อย จึงไม่น่าจะเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรง
ในฐานะนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจในอสังหาริมทรัพย์ควรเตรียมตัวอย่างไร?
- สำหรับนักลงทุน
- ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด
- ไม่ควรลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ควรกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่สนใจอย่างละเอียด เช่น ราคาประเมินที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และศักยภาพในการเติบโต
- สำหรับเทรดเดอร์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาฯ
- อย่าทิ้งปัจจัยพื้นฐานอย่างการติดตามข่าวสารเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์
- ศึกษาการวิเคราะห์กราฟ, ตัวชี้วัดทางเทคนิคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคต รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอเพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง
ตัวอย่างวิดีโอเกี่ยวกับข่าว Existing Home Sales
ก่อนจากกันไป มีคลิปวิดีโอสั้นๆ ไม่เกิน 2 นาที ที่พูดเกี่ยวกับยอดขายบ้านมือสองว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีอัตราการขายบ้านมือสองลดลง 3.3% เนื่องจากปัญหาสินค้าคงคลังต่ำ โดยมีบ้านสำหรับขายเพียง 1.08 ล้านหลัง ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในเดือนมิถุนายน สาเหตุที่ผู้คนไม่ต้องการขายบ้านคือราคาบ้านสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจำนองยังคงสูงอยู่ จากเนื้อหาในคลิปก็จะเห็นว่ายอด Existing Home Sales ขึ้นอยู่กับปัจจัยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
- focus นาทีที่ 00:02 ตลาดบ้านมีความอ่อนแอลงในเดือนมิถุนายน โดยยอดขายบ้านที่มีอยู่ลดลง 3.3% เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบ้านมากกว่าความต้องการที่ลดลง
- focus นาทีที่ 00:53 คนไม่ค่อยอยากขายบ้านของตน เพราะบ้านที่พวกเขาจะซื้อใหม่ส่วนใหญ่จะมีราคาแพงกว่าปัจจุบัน ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวช้า
สรุป
ข่าว Existing Home Sales ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวที่ประกาศยอดขายบ้านมือสองเท่านั้นแต่มันยังเป็นตัวเลขที่บ่งบอกการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม เพราะตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขยอดขายบ้านเปลี่ยนไปมันก็คือสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ
ดังนั้น การติดตามข่าว Existing Home Sales และแนวโน้มในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั้งผู้ที่กำลังมองหาบ้าน ผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่สนใจติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม เพราะตัวเลขนี้สามารถช่วยให้เราตัดสินใจวางแผนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น