Crude Oil Inventories คืออะไร? : กุญแจสู่ความสำเร็จของนักเทรดน้ำมัน

ราคาน้ำมันที่เราใช้เติมรถของเราทุกวันนี้ มันเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยอะไร? หนึ่งในคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับตัวเลขที่เรียกว่า “Crude Oil Inventories” หรือ “คลังน้ำมันดิบ” นั่นเอง ข้อมูลนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญที่นักเทรดน้ำมันใช้ในการตัดสินใจซื้อขายอีกด้วย บทความนี้จะพาคุณไปไขความลับ ว่าคลังน้ำมันดิบคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรและนักเทรดสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างไรบ้าง


ฉบับย่อโดย Thaiforexbroker.com

  • Crude Oil Inventories หรือคลังน้ำมันดิบ คือ ปริมาณน้ำมันดิบที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่น ที่เก็บสำรองไว้
  • ระดับคลังน้ำมันดิบ ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม
  • แหล่งข้อมูลที่สำคัญของ Crude Oil Inventories ได้แก่ API , EIA และ IEA นอกจากนี้ยังมี ForexFactory, Trading Economics และ Investing.com
  • ตัวเลขคลังน้ำมันดิบเป็นข้อมูลสำคัญที่นักเทรดน้ำมันใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจซื้อขาย เพราะตัวเลขนี้บ่งบอกถึงอุปสงค์และอุปทานของน้ำมัน

Crude Oil Inventories คืออะไร?

  • คลังน้ำมันดิบ (Crude Oil Inventories) หรือ คลังน้ำมันสำรอง คือปริมาณน้ำมันดิบที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่น โดยจะวัดเป็นหน่วยบาร์เรล (barrel)
  • คลังน้ำมันดิบก็เปรียบเหมือนสินพรัพย์รูปแบบพลังงานชนิดหนึ่งของประเทศ ระดับคลังน้ำมันดิบจึงมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไปด้วย
  • ด้วยเหตุผลที่น้ำมันดิบนั้นเป็นทรัพยากรที่หายากและปริมาณของคลังน้ำมันดิบส่วนใหญ่ในโลกก็ต้องขึ้นยู่กับ OPEC มันจึงเป็นสินทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยภายนอกอยู่ตลอดเวลา

คลังน้ำมันดิบกับชีวิตประจำวัน

คลังน้ำมันดิบอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมีผลต่อชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด ทั้งเรื่องราคาเชื้อเพลิงที่เราเติมรถ และกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม มาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงของคลังน้ำมันดิบส่งผลอย่างไรบ้าง

1. ผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงรถ

  • ถ้าคลังน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น : แสดงว่ามีน้ำมันดิบเหลือใช้มากขึ้น ราคาขายส่งน้ำมันดิบก็มักจะลดลงตามไปด้วย ทำให้ราคาน้ำมันที่ปั๊มลดลงตามมา
  • ถ้าคลังน้ำมันดิบลดลง : ตรงกันข้าม แสดงว่าอุปทานน้ำมันดิบลดลง ราคาขายส่งน้ำมันดิบก็จะสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันที่ปั๊มสูงขึ้นตามไปด้วย

2. ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

  • ภาคขนส่ง : ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่งก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ภาคอุตสาหกรรม : ภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบหรือพลังงานในการผลิต เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ผลิตออกมาสูงขึ้น
  • ภาคการผลิตไฟฟ้า : โรงไฟฟ้าบางแห่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟที่เราจ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

  • อัตราเงินเฟ้อ : เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น แนวโน้มราคาสินค้าและบริการต่างๆ จะสูงขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้
  • การลงทุน : ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการลดการลงทุน
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ : เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและการลงทุนลดลง ก็จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ผลกระทบจากระดับคลังน้ำมันดิบ
ผลกระทบจากระดับคลังน้ำมันดิบ กระทบถึงราคาของเชื้องเพลิง อุตสาหกกรรมหลายแขนงที่ต้องพึ่งงพาน้ำมัน รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับ Crude Oil Inventories

ในเมื่อระดับคลังน้ำมันดิบมันส่งกระทบต่อราคาและต้นทุนอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว ทำไมประเทศต่างๆ ถึงรักษาระดับคลังน้ำมันดิบให้คงที่ไม่ได้ ? เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงระดับคลังน้ำมันดิบขอแยกเป็น 3 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

1. ปัจจัยด้านอุปทาน

  • การผลิตน้ำมันดิบ : ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศแหล่งน้ำมันทั่วโลก มีผลโดยตรงต่อระดับคลังน้ำมันดิบ หากมีการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น คลังน้ำมันดิบก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน : การลงทุนสำรวจและผลิตน้ำมันใหม่ๆ ก็จะส่งผลต่อปริมาณการผลิตในระยะยาวได้เช่นกัน
  • เหตุการณ์ที่กระทบต่อการผลิต: เช่น สงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง ภัยธรรมชาติ หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน มีผลผลิตลดลงได้
  • นโยบายขององค์กรผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) : การตัดสินใจของ OPEC ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เกี่ยวกับการปรับลดหรือเพิ่มกำลังการผลิตมีผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก

2. ปัจจัยด้านอุปสงค์

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจที่เติบโตจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และระดับคลังน้ำมันดิบก็จะลดลง
  • ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม : ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค หากราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคอาจลดการใช้พลังงานลง
  • นโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศ : นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หรือมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ
  • เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด: เช่น การแพร่ระบาดของโรค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สามารถส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบในระยะสั้นๆ

3. ปัจจัยอื่นๆ

  • การเก็งกำไร : นักลงทุนและผู้ค้ารายใหญ่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดน้ำมันดิบ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาและปริมาณคลังน้ำมันดิบผันผวน
  • อัตราแลกเปลี่ยน : อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินมีผลต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับคลังน้ำมันดิบ
  • การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี : เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือแหล่งพลังงานทดแทน สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในระยะยาว ซึ่งมีผลต่อน้ำดิบทางอ้อม

จะเห็นว่าปัจจัยต่างๆ เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศไม่สามารถควบคุมเบ็ดเสร็จได้ทั้งหมด ทำได้เต็มที่แค่เพียงประคับประครองให้ราคาน้ำมันและระดับคลังน้ำมันมีความเสถียรภาพที่สุด

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับคลังน้ำมันดิบ
ระดับคลังน้ำมันดิบแปรผันไปตามปัจจัย 3 ด้าน ทั้งด้านอุปทาน ด้านอุปสงค์ และด้านอื่นๆ เช่ นพลังงานทดแทน ปัจจัยทั้งหมดล้วนเป็นตัวกำหนดระดับคลังน้ำมันว่าจะมากขึ้นหรือลดลงในอนาคต

รายงาน Crude Oil Inventories มาจากไหน?

ในเมื่อเรารู้ถึงความสำคัญของระดับคลังน้ำมันดิบ หรือ Crude Oil Inventories ไปแล้ว ทีนี้เราจะหาดูข้อมูลจากไหนได้บ้าง?

ถ้านับในสหรัฐอเมริกาจะมีแหล่งข่าวหลายแห่งที่คอยรายงานตัวเลขคลังน้ำดิบทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ แต่จะมี 2 เจ้ายอดนิยม คือ

1. API

  • API ย่อมาจาก American Petroleum Institute หรือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา เป็นเหมือนสมาคมใหญ่ของบริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกา
  • ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งการวิจัย การกำหนดนโยบาย และหนึ่งในนั้นก็คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน
  • หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ API ออกมาทุกสัปดาห์คือ รายงานสต็อกน้ำมันดิบ นั่นเอง รายงานนี้จะบอกเราว่าปัจจุบันมีน้ำมันดิบเก็บอยู่ในสหรัฐฯ เท่าไหร่
  • เป็นข้อมูลที่นักลงทุนและผู้ค้าน้ำมันทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะปริมาณน้ำมันดิบที่มีผลกระทบต่อหลายๆ ด้าน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น

2. EIA

  • EIA ย่อมาจาก Energy Information Administration หรือ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา
  • มีหน้าที่หลักในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือไฟฟ้า แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เข้าใจ
  • หนึ่งในข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่ EIA เผยแพร่คือ รายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ รายงานนี้บอกเราว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีน้ำมันดิบเก็บสำรองอยู่เท่าไหร่ เหมือนกัน API รายงานเลย
  • แม้ว่า EIA จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ในส่วนข้อมูลคลังน้ำมันดิบทั่วโลกนั้น จะมีองค์กรที่ชื่อ IEA มันอาจจะคล้ายกับ EIA ที่เพิ่งพูดถึงไป แต่มันเป็นองค์กรที่แตกต่างกันมาก ดังนี้

  • IEA นั้น เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ก่อตั้งขึ้นในปี 1974 เป็นเหมือนองค์กรใหญ่ๆ ที่ดูแลเรื่องพลังงานทั่วโลก
  • ในอดีตเคยเกิดวิกฤตน้ำมันโลก ทำให้หลายประเทศเดือดร้อน IEA เลยถูกตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก โดยการช่วยให้ประเทศต่างๆ มีน้ำมันใช้เพียงพอ
  • IEA จะทำวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อให้ประเทศสมาชิกต่างๆ นำไปใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งสมาชิกของ IEA ก็มีมากถึง 31 ประเทศ
  • แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออีกประเภทหนึ่งที่จะรายงานทุกๆ สัปดาห์เช่นกัน โดยเฉพาะเทรดเดอร์ที่ชอบเทรดน้ำมันมักจะดูข้อมูลจากตรงนี้มากว่า เพราะความรวดเร็วและหลากหลายของข้อมูล
ประกาศตัวเลข Crude Oil Inventory
ภาพจาก ForexFactory แสดงถึงการประกาศตัวเลข Crude Oil Inventory ที่รวดเร็วและเป็นที่นิยมของนักเทรดน้ำมันในการติดตามตัวเลขคลังน้ำมันดิบ

ข่าว Crude Oil Inventories สำคัญต่อนักเทรดน้ำมันอย่างไร?

  • ตัวเลข Crude Oil Inventories นั้นถือว่าเป็นข้อมูลตัวเลขที่สำคัญต่อนักเทรดน้ำมันดิบอย่างมาก เหตุผลนั่นก็เพราะ
    • ตัวเลขบ่งบอกถึงอุปสงค์และอุปทาน : ถ้าระดับคลังน้ำมันเพิ่มขึ้น แสดงว่ามีน้ำมันเหลือใช้ในตลาดมาก ราคาอาจจะลดลง แต่ถ้าระดับลดลง แสดงว่าความต้องการใช้น้ำมันสูง ราคาอาจจะเพิ่มขึ้น
    • ผลกระทบต่อราคา : การเปลี่ยนแปลงของคลังน้ำมันดิบเพียงเล็กน้อย ก็สามารถส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนได้อย่างรวดเร็ว
    • เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ : คลังน้ำมันดิบยังสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้น และระดับคลังน้ำมันก็จะลดลง
  • การอ่านค่าตัวเลข Crude Oil Inventories ก็มีหลักการแบบเชิงลึกในการวิเคราะห์ แต่ในที่นี้เราขอพูดถึงการอ่านตัวแบบเบื้องต้นให้ผู้อ่านได้ทราบคร่าวๆ ดังนี้
    1. ดูการเปลี่ยนแปลงของคลังน้ำมันดิบ : ตัวเลขคลังน้ำมันดิบก่อนหน้า หากรายงาน Crude Oil Inventories แสดงว่าสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น แสดงว่าน้ำมันมีเหลือมากในตลาด ราคาก็อาจจะลดลง
    2. เปรียบเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ : ถ้าระดับคลังน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ราคาอาจจะลดลง แต่ถ้าลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ราคาอาจจะเพิ่มขึ้น
    3. ดูแนวโน้มระยะยาว : พยายามสังเกตว่าสต็อกน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระยะยาว เพื่อประเมินทิศทางของราคาในอนาคต
    4. พิจารณาปัจจัยอื่นๆ : นอกจากสต็อกน้ำมันแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน เช่น เหตุการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศ และนโยบายของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่

เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ระดับ Crude Oil Inventories ส่งผลชัดเจนต่อราคา

ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักในปี 2015

ปี 2015 เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการที่ปัจจัย 5 ข้อ ส่งผลให้ราคาของน้ำมันให้ลดลงอย่างรุนแรง ในช่วงเวลานั้น ราคาของน้ำมันดิบลดลงถึงระดับต่ำสุดที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสุดท้าย ผู้บริหารหลายคนในอุตสาหกรรมน้ำมันเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาหลายปีในการที่ราคาของน้ำมันจะกลับมาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ซึ่งก็ถือว่าพวกเขาคิดถูกเพราะจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2021 เมื่อราคาของน้ำมันดิบยังอยู่ที่ 73.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปัจจัย 5 ข้อที่ทำราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างมากในปี 2015 คือ

  1. น้ำมันล้นตลาด : มีการผลิตน้ำมันออกมาเยอะมาก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีใหม่ในการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน ทำให้น้ำมันมีเยอะเกินความต้องการของตลาด
  2. ความต้องการน้ำมันลดลง : เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและยุโรป ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วยเพราะคนใช้น้ำมันน้อยลง
  3. กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ไม่ลดการผลิต : OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย แทนที่จะลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น กลับเลือกที่จะผลิตน้ำมันเหมือนเดิม ทำให้น้ำมันล้นตลาดยิ่งขึ้นไปอีก
  4. อิหร่านกลับมาผลิตน้ำมัน : หลังจากที่อิหร่านได้รับอนุญาตให้กลับมาผลิตน้ำมันได้ ทำให้น้ำมันในตลาดมีมากขึ้นไปอีก ทำให้ราคาน้ำมันยิ่งตกต่ำ
  5. ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า : เนื่องจากน้ำมันซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์ เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ประเทศอื่นๆ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงตามไปด้วย

ปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระดับ Crude Oil Inventories ทั้งสิ้น เหมือนกับหัวข้อ “”ปัจจัยที่มีผลต่อระดับ Crude Oil Inventories” ที่กล่าวไปข้างต้น

ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักในปี 2015
ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักในปี 2015 ด้วยสาเหตุปัจจัยจากทั้ง อุปทาน อุปสงค์ ที่ทำให้ระดับคลังน้ำมันล้นตลาดและทำให้ราคาร่วงในที่สุด

แนวโน้มในอนาคตของ Crude Oil Inventories ที่น่าสนใจ

จากที่เห็นตัวอย่างของเหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวกับคลังน้ำมันดิบกันไปแล้ว เรามาดูแนวโน้มและการคาดการณ์ในอนาคตของ ”น้ำมันดิบ” จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือกันบ้างดีกว่า

  • องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้คาดการณ์ว่าโลกกำลังเผชิญกับการล้นตลาดน้ำมันในทศวรรษนี้ ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันลดลง!!!
  • IEA คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวันระหว่างปี 2023 ถึง 2030 ซึ่ง การเติบโตของความต้องการน้ำมันส่วนใหญ่จะมาจากเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย
  • จุดนี้เองที่ทำให้ IEA คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้เกิดการล้นตลาดของน้ำมันดิบ ซึ่ง OPEC อาจต้องปรับลดการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา
  • หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำมันดิบล้นตลาดจนเกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน เนื่องมาจากการใช้รถ EVและพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้ยังคงเป็นมุมมองที่ขัดแย้งกันในหลายๆ ฝ่าย
  • ข่าวการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันจะล้นตลาดในปี 2030 เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโลก ดังนั้เราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรดี?
    • ถ้าเราเป็นนักลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก็ควรพิจารณาการลงทุนในพลังงานสะอาดหรือเทคโนโลยีใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมหรือรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระจายความเสี่ยง
    • ถ้าหากคุณอยู่ในธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมัน ควรเริ่มวางแผนในการปรับตัวเข้าสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนและลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน
    • การร่วมสนับสนุนหรือผลักดันนโยบายทั้งในภาครัฐหรือภาคเอกชน ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านและส่งเสริมความยั่งยืน
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

วิดีโอเกี่ยวกับการอ่านข้อมูล Crude Oil Inventory

How To Read The Weekly EIA Natural Gas & Crude Oil Reports เครดิต By Ricky Gutierrez

มีคลิปวิดีโอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรายงานตัวเลข Crude Oil Inventory รายสัปดาห์ ซึ่งเนื้อหาในวิดีโอจะพูดเกี่ยวกับ

  • Focus นาทีที่ 00:12 การรายงานตัวเลขน้ำมันดิบรายสัปดาห์
  • Focus นาทีที่ 2:08 การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน
  • Focus นาที่ 4:16 พูดถึงการเทรดหลังจากมีข่าวรายในวันพฤหัสบดี

สรุป

ในโลกของเรามีพลังงานที่เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นก็คือ น้ำมัน ซึ่งน้ำมันนี้เองก็ผลิตมาจากน้ำมันดิบ ดังนั้น Crude Oil Inventories หรือคลังน้ำมันดิบ จึงเป็นเหมือนระดับสัญญาณที่สามารถบอกได้ว่าโลกของเรามีพลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้แค่ไหน การติดตามข้อมูลคลังน้ำมันดิบจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการใช้จ่ายหรือการลงทุนในตลาดน้ำมัน

ซึ่งก็มีองค์กรหลายแห่งที่เปิดเผยข้อมูล Crude Oil Inventories ให้ประชาชนได้รับรู้ รวมถึงนักลงทุนและเทรดเดอร์ที่ต้องการข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์และเก็นกำไรซื้อขาย เพราะตัวเลขเหล่านี้ ก็ได้พิสูจน์ไปแล้วว่ามันสร้างผลกระทบต่อทุกๆ ด้านแค่ไหน